(8 พ.ค. 66) นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมความพร้อมในการรับคนพิการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสให้กับคนพิการเข้ามารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ เพราะการมีอาชีพเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ ยกระดับความเท่าเทียมกันในสังคม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสำนักงาน ก.ก. ได้เปิดรับสมัครคัดเลือกคนพิการเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ แล้วเสร็จและประกาศผลการคัดเลือกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยมีผู้พิการที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการฯ ในตำแหน่ง เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ นักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ รวมทั้งสิ้น 9 ตำแหน่ง
สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ เป็นการพิจารณาร่างแนวทางการเตรียมความพร้อมในการรับคนพิการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ โดยแบ่งเป็น 4 ช่วงคือ 1) การเตรียมความพร้อมก่อนวันบรรจุฯ อาทิ ความพร้อมทางด้านกายภาพของสถานที่ทำงาน ความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวก 2) การปฏิบัติงานวันแรก การจัดกิจกรรมต้อนรับข้าราชการบรรจุใหม่ 3) การปฏิบัติงานของคนพิการ อาทิ การมีระบบพี่เลี้ยง (Mentor) การให้ความช่วยเหลือระหว่างปฏิบัติงาน 4) การติดตามและประเมินผล ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผล โดยสัมภาษณ์หัวหน้างาน พี่เลี้ยง เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น
ที่ปรึกษาฯ ภาณุมาศ กล่าวในที่ประชุมว่า สำหรับการรับผู้พิการเข้าทำงานหรือเข้ารับราชการนั้น ให้คงแนวทางตามที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว สิ่งสำคัญคือขอให้เน้นคุณภาพ ศักยภาพการทำงานของตัวผู้พิการ ไม่ใช่รับให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด เพราะการรับโดยเน้นที่ปริมาณแต่มีการเข้าออกอยู่บ่อยครั้งนั้นไม่เป็นผลดี และการเปิดรับคนพิการเข้ารับราชการฯ ในครั้งนี้ รวมถึงคณะกรรมการชุดนี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นการเปิดรับอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก หากสำเร็จด้วยดีก็จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป
การประชุมในวันนี้ มีกรรมการและผู้แทนกรรมการ จากสำนักการศึกษา สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงาน ก.ก. สำนักงานการเจ้าหน้าที่ สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมการประชุม
———-