เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงมีผล กระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 พบค่าฝุ่นระหว่าง 17-189 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) พบเกินมาตรฐานใน 56 จังหวัด รวม 167 พื้นที่
กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 55-124 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ใน 6 จังหวัด รวม 94 พื้นที่ พบเป็นพื้นที่สีแดง (กระทบต่อสุขภาพ) 4 พื้นที่ ได้แก่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น 124 มคก./ลบ.ม., แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น 105 มคก./ลบ.ม., ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ค่าฝุ่น 92 มคก./ลบ.ม. และ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ค่าฝุ่น 110 มคก./ลบ.ม.
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในวันที่ 9 มี.ค.66 อาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ แต่หลังในวันที่ 9 มี.ค.66 เป็นต้นไปสถานการณ์มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ สำหรับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 9-14 มี.ค.66
ขณะที่นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้ลงนามในหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัดกทม. กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด ด้วยสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 9 มี.ค. 2566