ฝุ่นพิษพุ่ง56จว. นครพนมหนัก ตราดอันตราย
ฝุ่นพิษลาม 56 จังหวัด 167 พื้นที่ เมืองนครพนมหนักสุด ค่าฝุ่นพุ่งทะลุ 189 ไมโครกรัม อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ประกาศห้ามเข้าเขตไฟป่าลุก ทั้งฝั่งเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และนครไทย เนินมะปราง จ.พิษณุโลก หากฝ่าฝืนถูกปรับตั้งแต่ 1 แสน คนเผาป่าโทษหนักคุก 4-20 ปี ปรับ 4 แสนถึง 2 ล้านบาท เมืองเชียงใหม่ฝุ่นฟุ้งต่อเนื่อง ค่าอากาศแย่อยู่ที่ 6 โลก ที่เมืองโคราชฝุ่นพิษคลุ้งทั่ว ไฟป่าลุกบ่อไร่ จ.ตราด วันที่สิบ ค่าฝุ่นทั้งจังหวัดเป็น สีส้ม มีผลต่อสุขภาพ ยกเว้นที่เกาะช้างใต้ ส่วนหมู่บ้านทับทิมสยามบ่อไร่พื้นที่ไฟป่ากลายเป็นหมู่บ้านสีแดง ผู้ว่าฯ รออากาศโปร่งขอโปรยฝนเทียม
ฝุ’นพิษฟุ้งลาม 56 จังหวัด
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 8 มี.ค. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 พบค่าฝุ่นระหว่าง 17-189 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) พบเกินมาตรฐานใน 56 จังหวัด รวม 167 พื้นที่
ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 55-124 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ใน 6 จังหวัด รวม 94 พื้นที่ พบเป็นพื้นที่สีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 พื้นที่ ได้แก่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน ค่าฝุ่น 124 มคก., แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม ค่าฝุ่น 105 มคก., ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา ค่าฝุ่น 92 มคก. และ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ค่าฝุ่น 110 มคก.
ด้านภาคเหนือ ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 65-139 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ใน 17 จังหวัด รวม 32 พื้นที่ พบเป็นพื้นที่ สีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) 11 พื้นที่ ได้แก่ 1.เชียงราย ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย, ค่าฝุ่น 93 มคก., ต.เวียง อ.เชียงของ ค่าฝุ่น 93 มคก. 2.เชียงใหม่ ต.หางดง อ.ฮอด 101 มคก. 3.ลำพูน ต.ลี้ อ.ลี้ 92 มคก. 4.แม่ฮ่องสอน ต.จองคำ อ.เมือง 91 มคก., ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง 112 มคก., ต.เวียงใต้ อ.ปาย 111 มคก. 5.น่าน ต.ในเวียง อ.เมือง 98 มคก. 6.ตาก ต.แม่ปะ อ.แม่สอด 112 มคก. 7.พิษณุโลก ต.ในเมือง อ.เมือง 104 มคก. และ 8.สุโขทัย ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย ค่าฝุ่น 139 มคก.
นครพนมหนักสุด 189 มคก.
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 50-189 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานใน 15 จังหวัด รวม 15 พื้นที่ พบเป็นพื้นที่สีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 พื้นที่ ได้แก่ ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย ค่าฝุ่น 112 มคก., ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย 96 มคก./ลบ.ม., ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ 92 มคก. และ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ค่าฝุ่น 189 มคก. ซึ่งมีค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
ภาคกลาง ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 49-103 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานใน 11 จังหวัด รวม 12 พื้นที่ โดยพบเป็นพื้นที่สีแดง 2 พื้นที่ ได้แก่ ต.บางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ค่าฝุ่น 92 มคก. และ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ค่าฝุ่น 103 มคก. ด้านภาคตะวันออก ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 53-86 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานใน 7 จังหวัด รวม 14 พื้นที่ ขณะที่ภาคใต้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงคุณภาพดี
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง คพ. คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในวันที่ 9 มี.ค. อาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ แต่หลังจากนั้นสถานการณ์มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 9-14 มี.ค. จึงขอให้ประชาชนควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งนี้ ติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอพพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK
ห้ามเข้าอช.ทุ่งแสลงหลวง
วันเดียวกัน ที่จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝุ่นควันยังคงหนาแน่นและค่ามลพิษอากาศสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานต่อเนื่อง โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. รายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ น้อยสุดอยู่ที่ 147 และสูงสุดที่ 213
ขณะที่เว็บไซต์ Iqair.com แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน พบว่า จ.เชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 181 US AQI และค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 วัดค่าได้ 113.1 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคน โดยจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก ส่วน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.เมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน ดัชนีคุณภาพอากาศ 211 US AQI 2.เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 195 US AQI และ 3.เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน 188 US AQI
ด้านนายนครินทร์ สุทัตโต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ประกาศห้ามเข้าพื้นที่อุทยานฯ ทุ่งแสวงหลวง ในพื้นที่จ.พิษณุโลก และจ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากปัญหาไฟป่า ก่อให้เกิดหมอกควันในอากาศที่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ถือว่าเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประกอบกับมีการตรวจพบจุดความร้อน (Hotspot) ในเขตอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง และพื้นที่ป่าโดยรอบเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุของไฟป่าเกิดจากการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร หาของป่าล่าสัตว์ และการลักลอบจุดไฟในพื้นที่ป่า ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประกอบกับประกาศจ.พิษณุโลก เรื่อง กำหนดเขตควบคุมไฟป่า และขอความร่วมมือห้ามเผาโดยเด็ดขาด และประกาศ จ.เพชรบูรณ์ เรื่อง กำหนดเขตควบคุมไฟป่า และขอความร่วมมือห้ามเผาโดยเด็ดขาด จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 20 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปในพื้นที่อุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง อ.เขาค้อ อ.วังโป่ง จ.เพชบูรณ์ อ.นครไทย อ.วังทอง และอ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ยกเว้นเขตบริการแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ที่ผ่อนผันตามมาตรา 64 หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หากการเผาหรือการกระทำการใดๆ ที่ทำให้เกิด ไฟไหม้ในอุทยานฯ รวมทั้งนอกพื้นที่อุทยานฯ แล้วไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่อุทยานมีโทษ จำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี ปรับตั้งแต่ 4 แสน-2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ หากมีเหตุจำเป็นหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าไปในอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง ต้องลงทะเบียน แจ้งชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชนให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง ทราบ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ หรือที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง พร้อมทั้งแจ้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ทราบด้วยก่อนเข้าพื้นที่ทุกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.-30 เม.ย. และต้องไม่นำวัตถุที่ทำให้เกิดไฟเข้าไปในเขตป่าด้วย
ฝุ่นคลุมเมืองโคราช
ส่วนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แอพพลิเคชั่น Air4Thai รายงานดัชนีคุณภาพอากาศของ จ.นครราชสีมา ว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยที่ ต.ในเมือง อ.เมือง วัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI ได้ที่ 144 อยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งค่าพุ่งสูงกว่าเมื่อวานนี้ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั่วไป ส่วนค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ตรวจวัดได้ 68 มคก./ลบ.ม. สูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน อยู่ในเกณฑ์สีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยภายในตัวอำเภอเมืองนครราชสีมา บริเวณตึกสูงโดยรอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีนั้น มองเห็นกลุ่มฝุ่นค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งที่บริเวณถนนจอมพลซึ่งอยู่ด้านหลังประตูชุมพลด้วย นอกจากนี้บริเวณถนนราชสีมา-โชคชัย บริเวณด้านหน้าโรงเรียนเมืองนครราชสีมา ที่เป็นจุดที่มีการจราจรคับคั่งในช่วงเช้าและเย็นเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีปริมาณฝุ่นค่อนข้างหนาแน่น
ด้านจ.บุรีรัมย์ นายสุริยา ศรีสม หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนกงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัด ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ไฟป่า และฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รวมถึงร่วมกันกำหนดมาตรการในการป้องกันไฟป่า และปัญหามลภาวะในพื้นที่ ไม่ว่าจะเกิดจากไฟป่า หรือจากการจุดไฟเผาของประชาชนและเกษตรกรก็ตาม ถึงแม้คุณภาพสภาพอากาศในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ จะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ไม่ได้มีปัญหาเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ก็ตาม แต่หลายภาคส่วนต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชน และพี่น้องเกษตรกรห้ามเผาในทุกรณี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ
หนองคายวอนงดเผา
ขณะที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ สวนสาธารณะหนองถิ่น ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย คพ. ได้ตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 195 AQI มีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อยู่ที่ 88 มคก./ลบ.ม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงได้แจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ ควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น โดยพบว่าสาเหตุ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าฝุ่นและมลพิษ เกิดจากการเผาขยะ รวมถึงการเผาภาคการเกษตรในพื้นที่ แม้ว่าทางจังหวัดจะขอความร่วมมือ งดการเผาแล้วก็ตาม
ด้านสถานการณ์ไฟไหม้ป่าเขาบรรทัด แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด่านบ้านเนินมะม่วง ต.นนทรีย์ และบ้านด่านชุมพล ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด หลังไฟป่าจากประเทศกัมพูชาลามเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ล่าสุดไฟป่ายังคงลุกลามขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น บางจุดไฟเริ่มสงบลงแล้ว ส่วนการป้องกันไฟป่ายังคงดำเนินต่อไปตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งทางภาคพื้นและทางอากาศ ขณะเดียวกันหมู่บ้านทับทิมสยาม กลายพื้นที่สีแดง
ไฟป’ลามบ่อไร่วันที่สิบ
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า วันนี้เข้าสู่วันที่สิบ แล้ว ซึ่งตั้งแต่วันแรกได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนทั้งทหาร ป่าไม้ อุทยาน ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน อาสาสมัครต่างๆ เข้าร่วมดับไฟ สร้างแนวกันไฟ และเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ไฟลามเข้าพื้นที่สวนของชาวบ้าน นอกจากนี้ใช้วิธีการเผาย้อนกลับ ตัดเส้นทางไม่ให้ไฟลาม พื้นที่ไหนรถเข้าได้ จะนำรถดับเพลิงดับเข้าไปดับทันที แต่ด้วยขีดจำกัดของพื้นที่ที่มีทั้งทุ่นระเบิดและช้างป่า ทำให้มีอุปสรรคเป็นอย่างมากในการดับไฟ รวมทั้งประสานกองทัพเรือช่วยส่งเฮลิคอปเตอร์ ซีฮอว์ก มาช่วยดับไฟตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.
นายชำนาญวิทย์กล่าวต่อว่า ส่วนของหมอกควันที่เกิดจากไฟป่า พบว่าทั้งจ.ตราด มีค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ระดับสีส้ม เกินเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ยกเว้นต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง เนื่องจากถูกกระแสลมที่พัดจากกัมพูชา เข้ามามายังจ.ตราด ขณะที่หมู่บ้านทับทิมสยาม ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ ที่ติดกับพื้นที่ไฟป่า กลายเป็นหมู่บ้านสีแดง มีค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนการทำฝนหลวงนั้น ทางจังหวัดได้ประสานงานกับหน่วยงานฝนหลวงไว้ เมื่อสภาพอากาศเหมาะสมจะดำเนินการทำฝนหลวงทันที ส่วนฝนที่จะตกตามธรรมชาติ ในช่วงจากการพยากรณ์อากาศยังไม่มีแนวโน้วที่ จะมีฝนตกลงมา อย่างไรก็ตามขอแนะนำให้ประชาชนสวมแมสก์ป้องกันฝุ่นด้วย
จี้เข้ม 11 มาตรการลดฝุ’น
ที่ศาลาว่าการกทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้ลงนามในหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัด กทม. กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด ด้วยสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ส่งผล กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น จึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ดังนี้ 1.เข้มงวดตรวจวัด ตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด 2.ประสานสถานีตำรวจท้องที่อำนวยการจราจรและกวดขันห้ามจอดรถในถนนสายหลักสายรองตลอดเวลา 3.ขอความร่วมมือทำงานหรือปฏิบัติงานในที่พัก (เวิร์กฟรอมโฮม) ใช้รถเท่าที่จำเป็น ไม่ขับ…ช่วยดับเครื่อง 4.ประชาสัมพันธ์ประชาชนให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว 5.ควบคุมสถานประกอบกิจการในพื้นที่ไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
6.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ทำบิ๊ก คลีนนิ่ง บริเวณสถานที่ ก่อสร้างและแพลนต์ปูน รวมถึงงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทุกประเภท 7.เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท 8.ทุกสำนักงานเขตทำบิ๊ก คลีนนิ่งบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น เพิ่มความถี่ในการล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ ใบไม้ และทำความสะอาดป้ายรถเมล์อย่างต่อเนื่อง 9.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้พร้อมแนะนำวิธีป้องกันสุขภาพอนามัยจากฝุ่นให้กับประชาชนและแจ้งเตือนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่น ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ AIRBKK หากประชาชนเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษแจ้งเบาะแสผ่านทางแอพพลิเคชั่น ทราฟฟี่ ฟองดูว์ 10.ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คลินิกมลพิษทางอากาศดูแลสุขภาพประชาชน และ 11.ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และลดผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียน
70 พื้นที่กรุงฝุ’นพิษพุ่ง
สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้ารับการปรึกษาได้ที่คลินิกมลพิษทางอากาศ ณ โรงพยาบาลสังกัดกทม. 6 แห่ง ประกอบด้วย ร.พ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ ร.พ.กลาง ร.พ.ตากสิน ร.พ. เจริญกรุงประชารักษ์ ร.พ.สิรินธร และ ร.พ.ราชพิพัฒน์ ในเวลา 08.00-15.00 น. หรือขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพ มหานครขอสรุปผลการตรวจวัดค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เวลา 05.00-07.00 น. วันเดียวกัน ตรวจวัดได้ 61-103 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 78.8 มคก./ลบ.ม. แม้ว่าค่าฝุ่นมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ โดยอยู่ในระดับ สีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพและอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ พบว่าเกินมาตรฐาน จำนวน 70 พื้นที่ โดยวัดค่าฝุ่นได้มากที่สุด 1.ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม 101 มคก. 2.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 ค่าฝุ่น 96 มคก. 3.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดกับถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน 93 มคก. 4.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 ค่าฝุ่น 92 มคก. 5.ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ 90 มคก.
6.ภายในสำนักงานเขตบางเขน ค่าฝุ่น 90 มคก. 7.บริเวณหน้าสำนักงานเขตหนองจอก 89 มคก. 8.สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา 89 มคก. 9.เขตประเวศ ด้านหน้าห้างซีคอน สแควร์ 88 มคก. และ 10.ภายในสำนักงานเขตคลองสามวา วัดค่าฝุ่นได้ 88 มคก.
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 10 มี.ค. 2566 (กรอบบ่าย)