กทม.เร่งตรวจสอบสภาพต้นไม้ใหญ่ – ความมั่นคงแข็งแรงป้ายโฆษณา เตรียมพร้อมรองรับพายุฤดูร้อน
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือนสภาพอากาศแปรปรวน ขอให้เฝ้าระวังพายุฤดูร้อนในช่วงกลางเดือน มี.ค. – เม.ย.66 ว่า สสล.ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดเตรียมหน่วยเร่งด่วน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุดเร่งด่วน 24 ชั่วโมง เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงยานพาหนะให้พร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุต้นไม้โค่นล้ม กิ่งไม้หักจากพายุฝนลมกรรโชกแรง กีดขวางการจราจรบนถนนสายหลักและสายรองในชุมชน หรือบ้านเรือนประชาชนโดยสามารถประสานการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาต้นไม้กีดขวางการจราจรให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ขณะเดียวกันได้ประสานแจ้งสำนักงานเขต 50 เขต และหน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ริมถนนสายสำคัญให้ตรวจตราต้นไม้ใหญ่ริมถนนและพื้นที่สาธารณะในความรับผิดชอบ เพื่อประเมินความเสี่ยง หากพบต้นที่มีความเสี่ยงกิ่งหักฉีก กิ่งผุ กิ่งแห้งเสี่ยงร่วงหล่นลงทางเท้า หรือผิวจราจร หากฝนตกลมกรรโชกแรงและต้นไม้ใหญ่เอนเอียงเสี่ยงโค่นล้มจากแรงลมให้เร่งค้ำยันและตัดแต่งกิ่งตามหลักรุกขกรรม เพื่อลดน้ำหนักพุ่มใบ และกรณีต้นไม้ใหญ่ที่มีพุ่มใบหนาทึบไม่มีช่องให้ลมพัดผ่าน เพื่อลดแรงต้านกระแสลมแรง รวมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและความเสี่ยงโค่นล้มของต้นไม้ใหญ่ภายในสวนสาธารณะของ กทม.เพื่อเตรียมความพร้อมรับช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและพายุฤดูร้อนในช่วงเปลี่ยนฤดู
นอกจากนั้น ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนร่วมตรวจสอบสภาพต้นไม้ กิ่งไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึงพื้นที่สาธารณะ หากพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงที่จะหัก โค่นล้ม หรือพบเห็นต้นไม้โค่นล้ม หรือเสี่ยงที่จะโค่นล้ม สามารถแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ หรือสายด่วน กทม.1555 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า ในส่วนของ สนย.ได้ประสานเจ้าของอาคารตรวจสอบป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุพายุฤดูร้อน หากเป็นป้ายที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้ม โดยกำชับเจ้าของป้ายโฆษณาให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย
ส่วนป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งบนถนนสายต่าง ๆ สนย.ได้ขอความร่วมมือสำนักงานเขตให้ตรวจสอบและควบคุมให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
กทม.แนะนำมาตรการป้องกันควบคุมโรคลีเจียนแนร์ ลดความเสี่ยงต่อการก่อเชื้อโรค
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการติดตามกรณีพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากการเข้าพักที่โรงแรมในกรุงเทพฯ เป็นผู้ติดเชื้อยืนยันโรคลีเจียนแนร์ จำนวน 4 คน โดยพบเชื้อก่อโรคในโรงแรมที่นักท่องเที่ยวเข้าพักว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ. ศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักงานเขตพื้นที่ ร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เข้าสอบสวนและควบคุมโรค โดยสำรวจระบบสุขาภิบาลน้ำใช้ ระบบการทำความเย็น และค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรคเพิ่มเติม ขณะเดียวกันทีมสอบสวนโรคได้ดำเนินมาตรการควบคุมโรค โดยแนะนำให้ความรู้เรื่องโรคลีเจียนแนร์ และมาตรการป้องกันควบคุมโรคให้กับโรงแรมดังกล่าว แนะนำการทำความสะอาดถังพักน้ำและถังเก็บน้ำ (Storage tank) โดยทำความสะอาด 1 – 2 ครั้ง/ปี ไม่ให้มีตะกอน ตะกรัน เมือก และตะไคร่น้ำภายในถังพักน้ำและให้มีคลอรีนอิสระตกค้างไม่น้อยกว่า 0.2 Parts per million (ppm.) เก็บตัวอย่างน้ำใช้และ Swab ถาดรองแอร์ในห้องพักที่ผู้ป่วยเคยพัก เพื่อตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมที่ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งแนะนำการทำความสะอาดหัวก๊อกและฝักบัวอาบน้ำ โดยให้ทำความสะอาดหัวก๊อกน้ำและแช่ฝักบัวด้วยสารละลายคลอรีนเข้มข้น 10 ppm. หรือแช่น้ำร้อน 65 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที และแนะนำให้ตรวจสอบน้ำในระบบน้ำร้อนรวม ต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และน้ำที่ส่งออกต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส และถังเก็บไม่ต่ำกว่า 42 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ กทม.ขอแนะนำทุกหน่วยงาน หรือสถานประกอบการที่พักนักท่องเที่ยวจัดการระบบคลอรีนในน้ำประปา ตรวจสอบระบบน้ำร้อนรวม ระบบปรับอากาศ อุปกรณ์ในห้องน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทำความสะอาด สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์น้ำอย่างสม่ำเสมอ สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการก่อเชื้อโรคดังกล่าว ขอให้ดูแลและล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศที่บ้านอย่างถูกวิธีทุก 1 – 2 สัปดาห์ รวมถึงทำความสะอาดท่อหล่อเย็น หรือถาดรองน้ำหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ ไม่ให้มีน้ำขัง เปียกชื้น และควรทำให้แห้งหากไม่ได้ใช้งานฝักบัว หรือก๊อกน้ำต่าง ๆ เป็นเวลานาน ควรเปิดน้ำทิ้งเป็นเวลา 20 นาที หมั่นทำความสะอาดหัวฉีดอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ให้อุดตัน
สำหรับอาการป่วยของโรคลีเจียนแนร์ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ อาการเบาไปจนถึงอาการหนัก โดยอาการเบาจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน หากติดเชื้อลงไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจเกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้
เขตดินแดงตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าสูบสิ่งปฏิกูลเกินเกณฑ์ราคาที่กำหนด
นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตดินแดง กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ข้อความระบุเจ้าหน้าที่เขตดินแดงเรียกเก็บเงินค่าสูบสิ่งปฏิกูลอาคารคอนโดมิเนียมเกินเกณฑ์ราคาที่กำหนดว่า สำนักงานเขตดินแดง ได้ตรวจสอบผู้ปฏิบัติงานสูบสิ่งปฏิกูลในวันดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ได้รับแจ้งมีผู้ขอใช้บริการสูบสิ่งปฏิกูลที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในซอยอินทามระ 47 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย และได้เก็บค่าบริการ เป็นเงินจำนวน 2,000 บาท (8 ลูกบาศก์เมตร) และนำส่งเงินในวันดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงใบเสนอราคาและใบเสร็จรับเงินที่ไม่ได้ออกจากสำนักงานเขตฯ จำนวน 9,000 บาท สำนักงานเขตฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หากพบมีพฤติกรรมตามที่ถูกกล่าวหาจริง จะดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตามควรแก่กรณีต่อไป
สำหรับแนวทางปฏิบัติการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบริการสูบสิ่งปฏิกูลของ กทม.ต้องโทรนัดหมายล่วงหน้าตามหมายเลขโทรศัพท์ของทางราชการ และแจ้งผู้รับบริการให้ทราบทุกครั้งว่า ค่าบริการคิดตามปริมาณที่จัดเก็บสิ่งปฏิกูลได้จริงในราคาลูกบาศก์เมตรละ 250 บาท โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จรับเงินของทางราชการให้ตามจำนวนเงินที่ได้รับจริง พร้อมนำส่งเงินให้ฝ่ายการคลังภายในวันเดียวกัน และทุกครั้งที่ออกปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทราบได้ก่อนว่า จะสูบสิ่งปฏิกูลได้ในปริมาณเท่าใด จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาก่อนปฏิบัติหน้าที่ได้