(26 ก.พ.66) เวลา 10.00 น. : นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ปลูกต้นพิกุลเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานคร ณ สวนบางกอกใหญ่ (ซอยจรัญสนิทวงศ์ 2) และเดินชมบริเวณโดยรอบสวนบางกอกใหญ่ พร้อมทั้งตรวจพื้นที่ส่วนต่อขยายจากสวนบางกอกใหญ่ 2 แห่ง คือ บริเวณติดต่อกับสวนบางกอกใหญ่ และบริเวณทางเข้าศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตบางกอกใหญ่ จากนั้นตรวจพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนแห่งใหม่ (สวนกลิ่นพิกุล) บริเวณทางเดินใต้แนวสถานีรถไฟฟ้า MRT ท่าพระ โดยมีนายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ พร้อมคณะผู้บริหารเขตบางกอกใหญ่ ร่วมลงพื้นที่
ทั้งนี้ เขตฯ ได้สำรวจความคิดเห็นของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เรื่องความต้องการใช้พื้นที่สีเขียวสาธารณะ จากการใช้บริการสวนบางกอกใหญ่พบว่า มีผู้เข้าใช้บริการน้อยกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ ระยะเวลาการใช้บริการประมาณ 1 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 05.00 น. – 07.00 น. โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เดินทางมายังพื้นที่สวนด้วยการการเดินเท้า สิ่งที่ประชาชนต้องการให้ปรับปรุงเพิ่มเติมในสวนบางกอกใหญ่เดิม ประกอบด้วย ไฟส่องสว่าง ห้องน้ำ ศูนย์หนังสือ สัญญาน Wifi กล้องวงจรปิดเพื่อดูแลความปลอดภัย ลานกิจกรรมเพื่อออกกำลังกาย ร้านค้าเพื่อเป็นพื้นที่นัดพบ พื้นที่จอดรถ ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์หนังสือ และพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันเขตฯ ได้ดำเนินการแล้ว
นอกจากนี้ เขตฯ ได้สำรวจและสอบถามถึงรูปแบบกิจกรรมที่ประชาชนต้องการในสวนใหม่ ที่จะสร้างเพิ่มเติมติดกับสวนบางกอกใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ 351 ตารางวา พบว่าประชาชนต้องการพื้นที่เดิน/วิ่ง พื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่พักผ่อน พื้นที่เต้นแอโรบิค เล่นโยคะ พื้นที่พบปะพูดคุย สนามเด็กเล่น พื้นที่อ่านหนังสือ ทํางาน กิจกรรมให้อาหารปลา พื้นที่ปั่นจักรยาน เวทีจัดแสงความสามารถของคนในชุมชน และพื้นที่ถ่ายรูป เช็คอิน โดยเมื่อนำข้อมูลความต้องการมาวิเคราะห์ สามารถแบ่งกิจกรรมตามประเภทการใช้งานได้ คือ กิจกรรม PASSIVE และ ACTIVE โดยการจัดวาง Zoning ได้แยกพื้นที่ดังกล่าวเป็น 2 Zone เชื่อมต่อด้วยพื้นที่ร้านค้า และลานเอนกประสงค์ เพื่อการพบปะกันก่อนเริ่มกิจกรรมภายในสวน และให้เปิดทางเข้าทั้งหมด 3 ทาง คือ ด้านหน้าที่ติดกับถนน 2 ทาง และทางเข้าจากภาระจำยอมที่เชื่อมต่อกับทางเข้าสวนเดิมอีก 1 ทาง เพื่อการเข้าถึงสวนที่สะดวกยิ่งขึ้น
จากนั้น เวลา 11.15 น. ปลัดกรุงเทพมหานคร ปลูกต้นทองอุไร 35 ต้น และตรวจเยี่ยมสวน 15 นาที ณ โรงเรียนต้นไม้ ซอยเพชรเกษม 63 ข้างอาคารที่พักข้าราชการ (อาคารสงเคราะห์บางบอน) เขตบางแค โดยมีนายณรงค์ ตาปสนันทน์ ผู้อำนวยการเขตบางแค พร้อมคณะผู้บริหารเขตบางแค ร่วมลงพื้นที่ สำหรับโรงเรียนต้นไม้ดังกล่าว มีพื้นที่ 4 ไร่ สำนักการศึกษาอนุญาตให้เขตฯ ปรับปรุงพื้นที่ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งพื้นที่เดิมสภาพเป็นหนองน้ำมีวัชพืชประเภทกก ปรือ ขึ้นเป็นจำนวนมาก เขตฯ ได้ทำการปรับปรุงเป็นสถานที่เก็บกิ่งไม้ บดย่อยปุ๋ยใบไม้ ต่อมานายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 และได้จัดสรรงบประมาณเดือนกันยายน 2565 เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาเป็นสวน 15 นาที เพิ่มพื้นที่สีเขียว สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและสร้างความร่มรื่น อนุรักษ์ ฟื้นฟูพันธุกรรมพืช และการรักษาพื้นที่สีเขียว โดยมีชนิดต้นไม้ ได้แก่ ต้นกระทิง แก้วมุกดา แคนา จำปีไทย จำปา ตะเบเหลือง ตะแบกนา ประดู่กิ่งอ่อน ปีบ พิกุล ราชพฤกษ์ ลำดวน อินทนิลน้ำ การเวก โกสน เข็มเชียงใหม่ เดหลีจักพรรดิ์ เทียนทอง พุดศุภโชค มาลัยทอง ยี่โถ หญ้าแดงแม็กซิกัน เอื้องหมายนา ปัจจุบันมีแนวคิดจัดทำเป็นโรงเรียนให้ความรู้ ด้านการขยายพันธ์ไม้ ทำปุ๋ยใบไม้ ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ การคัดแยกขยะ ปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ การนำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลกลับใช้มาประโยชน์ ศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างคนในชุมชน เด็กนักเรียน ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการ
ทั้งนี้ สวน 15 นาที เป็นหนึ่งใน 216 นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานร ซึ่งหมายถึงการกระจายสวนและพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร โดยการพัฒนาพื้นที่เดิมควบคู่การเพิ่มพื้นที่ใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน โดยในปัจจุบัน กทม.มีลานกีฬาทั้งสิ้น 1,034 แห่ง ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวคุณภาพและมีมาตรฐานได้ด้วยการดำเนินการหลายรูปแบบ อาทิ พัฒนาสวนขนาดเล็กในพื้นที่ราชการและเอกชน แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้าง พื้นที่จุดบอดบริเวณโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอพื้นที่เหมาะสมต่อการพัฒนา นอกจากนี้ ยังสามารถเปิดพื้นที่นอกอาคารของสถานที่ราชการให้ประชาชนเข้าใช้ได้บางเวลา ตลอดจนใช้กลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี หรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาฐานข้อมูล ปักหมุดฐานข้อมูลสวน 15 นาที ให้เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมสวนที่ประชาชนสามารถใช้งานได้จริงและเปิดเป็น open data อีกด้วย
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #ปลอดภัยดี
—————-