(10 ต.ค.65) เวลา 17.30 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร : นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงาน “Homeless Day 2022: คน = คน” จัดโดยแผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและประสานเครือข่ายคนไร้บ้านและคนจนเมืองสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร พร้อมจัดเสวนา“Homeless ไม่ Hopeless: เสียงสะท้อน ความหวัง อนาคต และชีวิตในภาวะไร้บ้าน” โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมให้ตระหนักต่อสถานการณ์คนไร้บ้านและความสัมพันธ์ของภาวะไร้บ้านต่อความเปราะบางของคนเมืองที่เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ กทม.ได้มาร่วมงาน “วันคนไร้ที่พึ่ง” หรือ “วันคนไร้บ้าน” Homeless Day ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนโดยเรื่องคนไร้บ้านในปัจจุบันถูกพูดถึงมากขึ้น โดยหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คนไร้บ้านกับคนจนเมืองเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ การบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาแค่เรื่องบ้านพักที่เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่อาจรวมถึงเรื่องสวัสดิการต่างๆ ด้วย ซึ่งในมิติของคนไร้บ้าน คนจนเมือง คนเร่ร่อนต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องของสภาวะบางอย่างหรือสวัสดิการต่างๆ ที่ยังไม่พร้อม โดยในส่วนของ กทม. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเรื่องสวัสดิการ ทั้งเรื่องของการหางาน สาธารณสุข และเรื่องของที่อยู่อาศัย
“คนไร้บ้าน จะต้องไม่ไร้สิทธิ์ และไม่ไร้งาน รวมถึงสวัสดิการต้องพร้อม ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกัน” รองผู้ว่าฯศานนท์ กล่าว
สำหรับงาน “Homeless Day 2022: คน = คน” ในวันนี้ เวลา 17.40 – 18.30 น. ได้จัดให้มีการเสวนา “Homeless ไม่ Hopeless: เสียงสะท้อน ความหวัง อนาคต และชีวิตในภาวะไร้บ้าน” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นายสิทธิพล ชูประจง จากมูลนิธิกระจกเงา
นางอัจฉรา สรวารี จากมูลนิธิอิสรชน
นายสมพร หารพรม จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย นางสาวณภัทร เสนาะพิณ จากเครือข่ายคนไร้บ้านหัวลำโพง ผู้แทนคนไร้บ้านจากโครงการจ้างวานข้า นายแพทย์ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอุเทน ชนะกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร นายแพทย์จักกาย เกษมนานา กลุ่มหมอกระเป๋า นายแพทย์อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ร่วมเสวนา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบูธแบ่งเป็น โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และการแสดงดนตรีโดยนักศึกษา รวมถึงมีบูธกิจกรรม ประกอบด้วยบูธแบ่งปันอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภค บูธให้ความรู้และบริการด้านสวัสดิการ และบริการตัดผม ตัดเล็บ เพื่อคนไร้บ้านอีกด้วย
“คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหาแต่ปัญหาเกิดจาก สังคมหรือเมืองที่ทำให้คนอยู่ไม่ได้เพราะไร้สวัสดิการหรือสิทธิเพียงพอ เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีตึกร้างมากมายแต่คนก็ยังไร้บ้าน เรามี Food waste(ขยะอาหาร) มากมายแต่บางคนก็ยังไม่มีอาหารกิน ผู้ประกอบการหลายคนขาดแรงงาน แต่เราก็ยังมีคนว่างงานและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานได้ นั่นคือข้อบ่งชี้ว่าการบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นหน้าที่ของกทม.ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ การปลดล็อคกฎหมายบางอย่าง รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆในการสร้างความเข้าใจกับสังคมว่า คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่สังคมต่างหากที่สร้างปัญหาบางอย่างทำให้เกิดคนไร้บ้าน ซึ่งเราต้องร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาให้มากกว่านี้” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวในการเสวนา
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อคนเปราะบางในเขตเมืองเป็นอย่างมาก ทั้งภาวะตกงาน การขาดความมั่นคงทางรายได้ รายได้ครัวเรือนลดน้อยลง ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการ การขาดตาข่ายปลอดภัยทางสังคม และการไม่มีเครือข่ายทางสังคมในการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน คนจนเมืองหรือประชากรกลุ่มเปราะบางทางด้านที่อยู่อาศัยนั้นประสบปัญหาทั้งในเรื่องแผนผังเมืองที่ไม่รองรับ เช่น กระบวนการทำให้เป็นเมืองที่ทำให้เกิดการไล่ที่ หรือการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยที่สวนทางกับรายได้ และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ กลุ่มคนเปราะบางก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกมาเป็นคนไร้บ้านมากยิ่งขึ้น และกลุ่มคนที่เปราะบางมากก็หลุดออกมาเป็นคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นนั้นพบว่ามีอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ดังนั้นการสร้างตาข่ายปลอดภัยทางสังคมที่ช่วยป้องกันไม่ให้กลุ่มคนเปราะบางกลายเป็นคนไร้บ้านหรือการสร้างความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย จึงเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น แผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงมีการจัดงานเพื่อสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นคนไร้บ้านให้แก่สังคม และหารือในประเด็นความท้าทายของสถานการณ์คนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครและประเทศไทย ที่เชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนความไม่เท่าทันของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และแนวทางการแก้ไขปัญหาบนความร่วมมือหลายภาคส่วนอันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย และตาข่ายปลอดภัยทางสังคมที่จะช่วยรองรับคนไร้บ้านและคนเปราะบางในเขตเมืองต่อไป
#ปลอดภัยดี
#บริหารจัดการดี
#เศรษฐกิจดี
—————————————————