กทม.จับมือโยโกฮามา ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร สู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างยั่งยืน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับโยโกฮามา จัดทำแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพ มหานครสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน โดยเปิดตัวแผนการประชุมเชิงปฏิบัติการ “The 4 th Workshop on Net Zero Emissions Business Opportunity under Bangkok-Yokohama City-to-City Program” ไปเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2567 โดยในวันนั้น นายยามานากะ ทาเคฮารุ นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามา นายยูทากะ มัตซูซาวา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น และนายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เดินทางมาร่วมประชุม ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พ้อยต์ เทอมินอล 21 เขตวัฒนา
สำหรับแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567-2573 ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และนำไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจของฝ่ายไทยและญี่ปุ่น (Business Matching) โดยมีตัวอย่างความสำเร็จในการจับคู่ทางธุรกิจ คือ บริษัท Macnica Cytech (Thailand) และบริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการความ ร่วมมือการใช้เทคโนโลยีแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ของญี่ปุ่น ประเภทเพอรอฟสไกต์ (Perovskite) ที่ออกแบบมาเพื่อติดตั้ง บนหลังคาและผนังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตพลังงานทดแทน โดยการประชุม แบ่งกิจกรรมเป็น 5 ช่วง 1.ความร่วมมือ ระหว่างเมืองของกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา 2.ความร่วมมือเชิงนวัตกรรมสำหรับการดำเนินงานด้านพลังงานในกรุงเทพมหานคร 3.การผลักดันการดำเนินงานด้านพลังงานในกรุงเทพมหานครผ่านนโยบาย การลงทุน และนวัตกรรม 4.นวัตกรรมด้านพลังงานและแนวทางการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 5.กิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจของบริษัทฝ่ายไทยและญี่ปุ่น จากนั้นผู้ว่าฯกทม. และคณะผู้แทนเมืองโยโกฮามา ได้ไปร่วมเสวนาในงาน BKK EXPO 2024 ในหัวข้อ ความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนเพื่อสังคมปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (City-to-City Cooperation towards Net Zero)
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวขอบคุณและชื่นชมเมืองโยโกฮามาที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสอดคล้องกับ Net Zero โดยเริ่มจากประชาชนในการมีส่วนร่วม ซึ่งได้ทำไปแล้วมากกว่า 10 ปี สำหรับ SME เป็นภาคส่วนที่สำคัญนอกเหนือจากภาคเอกชนที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินทุนมาก ประเทศไทยมีบริษัทใหญ่ถึง 9,000 กว่าแห่ง SME มีประมาณ 3 ล้านราย หากจะทำ Net Zero ต้องได้รับ การช่วยเหลือจากภาครัฐ หลายครั้งที่เราพูดถึงเป้าหมายที่อยู่ไกลถึงปี 2050 จริงๆ แล้วการก้าวเข้าสู่ Net Zero จะต้องให้ความรู้ช่วยเหลือให้ SME เหล่านี้ ตามวิสัยทัศน์ของท่านเทศมนตรีเมือง โยโกฮามาที่ดีมากๆ ซึ่งจะทำให้แผนปฏิบัติ การพลังงานกรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการจริง ด้วยการทำ Action Plan สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เป็นแนวทางที่สำคัญ รวมถึง แนวปฏิบัติ City-to-City ระหว่างเมือง โยโกฮามากับกรุงเทพมหานครเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะได้ดำเนินการและเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการประกาศแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานครในวันนี้ เป็นรายปีว่าแต่ละปีมีเป้าหมายอย่างไร สุดท้ายแยกว่าแต่ละชุมชน แต่ละบริษัทมีเป้าหมายอย่างไร ทำให้ Net Zero ไม่ใช่แค่เพียง Slogan แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่นำไปใช้ได้อย่างแท้จริง
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2567