นายช่าง
“ปัญหาที่แก้ยากที่สุดก็คือปัญหาคอร์รัปชั่น” คำพูดของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุถึงการทำงาน 6 เดือน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565
คำพูดนี้สอดคล้องกับเรื่องเงินใต้โต๊ะ ที่ผู้ขออนุญาตก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน ทั้งในกรุงเทพฯ และเขตองค์การบริหารท้องถิ่นต่างๆ เกือบทั้งประเทศ ต้องจ่ายเงินให้ผู้มีหน้าที่ในการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป ประเมินกันว่าเงินใต้โต๊ะเหล่านี้แต่ละปีไม่ต่ำกว่าห้าพันล้านบาท
ปัจจุบันคิดกันเป็นตารางเมตรของการก่อสร้าง ตั้งแต่ ตร.ม.ละ 50-80 บาท ทั้งนี้เพื่อเอาไว้ซื้อขายตำแหน่งกัน
ปัจจัยเบื้องต้นที่เปิดทางให้มีเงินใต้โต๊ะคือ ปัญหาทางกฎหมายที่ มีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับอาคารอยู่กว่า 22 ฉบับ และมีข้อกำหนดกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายนั้นมาบังคับใช้อีกนับพันข้อกำหนดอันมีลักษณะที่ซ้ำซ้อน ซับซ้อนขัดแย้งกันเอง ล้าสมัย จนกลายเป็น “เครื่องมือที่นำมาหาประโยชน์โดยมิชอบ”
เช่นว่า “พื้นที่อาคาร” คำเดียวที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายเพียง 2 ฉบับ ขาดความชัดเจนจนสร้างปัญหาต่อการพัฒนาการก่อสร้าง
หรือกรณีที่ประสบพบเห็นมา มีผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารหลังหนึ่งในพื้นที่อาคารบริหารส่วนตำบลใกล้กทม. ด้วยวิธีการขอก่อสร้าง โดยไม่ต้องรอรับคำอนุญาตก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กลับถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาตะโกนตำหนิว่า “เอ็งจะใช้มาตรา 39 ทวิ เพราะจะไม่จ่ายใช่ไหม ออกจากห้องไปเลยเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นจะเอาเด็กไปอัด-ง”
รวมถึงถ้อยคำว่า “อย่ามาต่อรองกันเลย เพราะมันไม่พอจะแบ่งกัน ถ้าไม่เท่าที่บอกก็อย่าหวังจะได้ใบอนุญาตก่อสร้าง รอไปก่อน”
ฉะนั้นคำถามจึงต้องกันว่า ทำไมเจ้าหน้าที่เหล่านี้จึงทรงอำนาจยิ่งนัก ทั้งๆ ที่มิได้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการลงนามเป็นผู้ให้การอนุญาต นี่คือปัญหาอันเกิดจากระบบบริหารราชการที่สร้างและบันดาลให้เกิดโครงข่ายของระบบการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่ผลของมันคือการคอร์รัปชั่นนั่นเอง
เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ว่าราชการกทม.ก็ดี นายกองค์การส่วนท้องถิ่นก็ดี ไม่มีสิทธิ์ไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการเหล่านี้ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คนใดในองค์กรของตน นอกจากหัวหน้าส่วนราชการหรือที่รู้จักเรียกว่าท่านปลัด
ขอยกเนื้อหาคอลัมน์ “ของดีมีอยู่” ปราปต์ บุนปาน ที่เขียนว่า “รัฐราชการผุพัง เราต้องโทษใคร ผลเรื่องนี้คือความผุพังของ กระบวนการในความเป็นธรรมในการมาหากินของประชาชน นั่นเพราะถ้าจะปรับแก้ ยกเลิก เปลี่ยนแปลงกฎหมาย พระราชบัญญัติเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร การจะปรับเปลี่ยนข้อกำหนดกฎกระทรวงอันมากมายมหาศาล ก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลกฎหมายเหล่านั้น ถ้าจะปรับเปลี่ยนปรับปรุง โครงสร้างระบบราชการการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต้องเริ่มต้นที่คณะรัฐมนตรี
ตราบใดที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่รับรู้หรือทำเป็นไม่รู้ ว่านี่คือ ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ก็จะไม่มีการแก้ปัญหากันเสียที
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 7 ม.ค. 2566 (กรอบบ่าย)