นฤมล นิราทร
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีข้อเสนอ ให้กรุงเทพมหานครใช้โมเดล Hawker Center ในสิงคโปร์ เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะ กลับมาดู “ต้นแบบ” ของสิงคโปร์อีกครั้ง และหาคำตอบถึงความเป็นไปได้ใน เรื่องนี้กัน
Hawker Center หรือศูนย์อาหารของสิงคโปร์ มีจุดตั้งต้นมาจากความพยายามในการจัดการปัญหา “คลาสสิก” ที่เกิดจากหาบเร่แผงลอย ก่อนทศวรรษ 1970 รัฐบาลใช้ความพยายามหลายครั้งในการจดทะเบียนผู้ค้าริมทาง เพื่อระบุและจำกัดจำนวนผู้ค้า มีการย้ายผู้ค้าออกจากถนนสายหลัก ไปยังถนนที่มีความพลุกพล่านน้อยกว่า แต่ก็ยังเผชิญปัญหาเดิมๆ
แม้รัฐบาลสิงคโปร์จะเห็นว่าการค้า ริมทางหรือหาบเร่แผงลอยเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ทันสมัย แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญของการค้าขนาดจิ๋วนี้ ทั้งในฐานะที่เป็นอาชีพ เป็นแหล่งอาหารและสินค้าราคาย่อมเยา
การจัดการในระยะต่อมาจึงมีการวางแผนอย่างระมัดระวัง รอบด้านและ ค่อยเป็นค่อยไป ในปี 2514 รัฐบาลเริ่ม ย้ายผู้ค้าในพื้นที่สาธารณะเข้าไปประกอบ การค้าใน Hawker Center ซึ่งมีสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา การทำความสะอาด การกำจัดขยะ มีการระดมการมีส่วนร่วมทั้งจากนักการเมืองในระดับต่างๆ ภาคประชาสังคม
เช่น ตัวแทนของผู้ค้า สมาคมธุรกิจ สมาคมการค้าของชนชาติต่างๆ ที่มีผู้ประกอบอาชีพจำนวนมาก และยังประสานงาน อย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การพัฒนาที่ดินและเขตอุตสาหกรรม
มีการรณรงค์ให้ความรู้ผู้ค้าเกี่ยวกับสุขาภิบาลอาหาร กำกับดูแลด้วยการประเมินผู้ค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยเกณฑ์การรักษาความสะอาด สุขาภิบาลอาหารและสุขอนามัยของผู้ขาย มีการออกวุฒิบัตรสุขาภิบาลอาหาร (Food hygiene certificate) และ ให้คะแนน และผู้ค้าต้องแสดงผลการ ประเมินในที่สาธารณะ สำหรับผู้ค้าที่มี รายได้น้อยรัฐบาลสนับสนุน (Subsidy) ค่าเช่าแผงด้วย
ในปี 2544 รัฐบาลนำเสนอโครงการยกระดับการประกอบการ โดยปรับปรุงทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพ และความสะอาดของอาหาร แผงค้าที่อยู่ในโครงการ “ยกระดับ” มีค่าเช่าสูงกว่าแผงธรรมดา นับได้ว่าเป็นการจัดการใน เชิงธุรกิจอย่างแท้จริง
การจัดการศูนย์การค้าข้างทางอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการที่จัดการเรื่องที่อยู่อาศัย และ JTC Corporation ซึ่งกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล
ความชัดเจนของรัฐบาลต่อบทบาททางสังคมของศูนย์อาหารเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงสนับสนุน ศูนย์อาหารอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชน
ซึ่งมีสถานภาพหลากหลายเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน รัฐบาลยังสนับสนุนการส่งต่อ ภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมอาหาร การวิจัยพัฒนา การจัดกิจกรรมส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมอาหาร
ในปี 2563 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศให้ “วัฒนธรรมอาหารริมทางของสิงคโปร์” เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage of Humanity)
กรณีสิงคโปร์บอกอะไรเราบ้าง? ตอบว่าบอกอะไรได้หลายประการ
1) การทำงานในเชิงยุทธศาสตร์และเป็นการทำงานระยะยาวมากกว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้ปัญหาเรื้อรังกลายเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
2) การสร้างการมีส่วนร่วม ปรึกษาหารือทั้งจากหน่วยงานรัฐ และภาค ประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งผู้ค้าด้วย
3) การจัดการที่รอบด้าน ทั้งด้านพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวัฒนธรรม และที่สำคัญ มีการประเมิน ต่อเนื่องและมีพัฒนาการต่อยอด ยกระดับการประกอบการ ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการเก็บข้อมูลรายละเอียดที่เป็นระบบ ทั้งในภาพใหญ่และข้อมูลเชิงลึก
4) มาตรการครอบคลุมทั้งด้านพื้นที่ คือ ทำเลการค้า (Locational) ด้านโครงสร้าง (Structural) คือการสนับสนุนค่าเช่า และมาตรการด้านการศึกษาและพัฒนา (Educational)
5) สำหรับกรุงเทพมหานคร Hawker Center คงไม่ใช่คำตอบหรือรูปแบบการจัดการรูปแบบเดียว ความหลากหลายของพื้นที่และย่านต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ทั้งย่านเมืองเก่า เมืองใหม่ ย่านพาณิชยกรรม ดั้งเดิมและทันสมัย และอื่นๆ รวมทั้งสินค้าและบริการที่ผู้ค้าสรรหามาขายเพื่อตอบโจทย์ ผู้ซื้อ
เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการแสวงหารูปแบบการจัดการที่สอดคล้องกับภูมิสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมอันเป็น อัตลักษณ์ที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร
นโยบายการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยที่ชัดเจนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นการทำฐานข้อมูลผู้ค้า ส่งเสริมให้ภาคประชาชนและเอกชนมีบทบาทในการดูแลพื้นที่การค้า นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดี และไม่ว่าจะใช้รูปแบบใดในการจัดการ การจัดเก็บข้อมูล การสร้างการมีส่วนร่วม การจัดการที่รอบด้าน มาตรการที่ครอบคลุม และการมองในเชิงยุทธศาสตร์ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญในการบริหารจัดการ
การเริ่มต้นด้วยโมเดล Hawker Center ในบางพื้นที่ และทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และต่อยอด น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะตอบโจทย์ความท้าทายนี้ได้ และที่สำคัญเรื่องนี้ต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2566