เดินหน้าเพิ่มรพ.กทม.ใหม่ ทุ่งครุ ดอนเมือง สายไหม สร้างเครือข่ายบริการคนกรุงสุขภาพดี
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการสร้างโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครเพิ่มอีก 3 แห่ง ว่า นโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแผนจะสร้างโรงพยาบาลเพิ่มในพื้นที่ 4 เขต ตามความความเร่งด่วนจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น คือ ที่เขตภาษีเจริญ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เปิดให้บริการอาคารรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน OPD แล้ว และอยู่ในแผน จะสร้างโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง ในระยะต่อไป โดยจะอยู่ในปีงบประมาณ 2568 ส่วนอีก 3 เขต คือ สายไหม ดอนเมือง ทุ่งครุ ซึ่งเป็นเขตที่จำเป็น เร่งด่วนโดยเฉพาะโซนเหนือ ดอนเมือง สายไหม ที่ยังไม่มีโรงพยาบาลกทม. โรงพยาบาลในพื้นที่ตอนนี้ก็รับผู้ป่วย แน่นมากอยู่แล้ว จึงจำเป็นมี โรงพยาบาลเพิ่ม ที่ผ่านมาก็มีความพยายามมาตลอด น่าจะเริ่มสร้างได้ในสมัยท่านผู้ว่าฯชัชชาติ เพราะเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญมาก ให้ โรงพยาบาลเป็นแม่ข่ายคลินิกต่างๆ ในระบบปฐมภูมิ ทำให้ประชาชนได้รับ บริการสะดวกขึ้น โดยทั้ง 3 โรงพยาบาล น่าจะอยู่ในปีงบประมาณ 2569 ขณะนี้ อยู่ระหว่างการออกแบบ
สำหรับสถานที่สร้างโรงพยาบาล แห่งใหม่ทั้ง 3 แห่ง ที่เขตดอนเมือง มีการศึกษาประสานงานเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลใน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ของ ค่ายลูกเสือพิศลยบุตร ขนาด 50 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณถนนสรงประภา ปัจจุบัน สำนักการศึกษากทม.ใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ฝึกลูกเสือ และพื้นที่ของ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งอยู่บริเวณถนนนาวงประชาพัฒนา จากการประสานให้ใช้พื้นที่ได้ 18 ไร่ แต่ยังติดปัญหามีอาคารยังไม่ได้รื้อถอน โดยทั้ง 2 แห่งอยู่ระหว่างประสานการ ใช้พื้นที่ โดยการบริหารจัดการก่อสร้าง จะให้โรงพยาบาลวชิรพยาบาล มาช่วยดูแล สำหรับที่เขตสายไหม เป็นที่ของกทม. พื้นที่ประมาณ 11 ไร่ ส่วนที่เขตทุ่งครุ ก็เป็นที่ของกทม. มีแผนทำเป็นศูนย์ราชการ จะสร้าง โรงพยาบาลขนาดเล็ก และมีหน่วยงาน อื่นๆ รวมอยู่ด้วย ปัจจุบันพื้นที่ใช้ประโยชน์เป็นโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (อาทร สังขะวัฒนะ)
“การสร้างโรงพยาบาลเพิ่มเป็น นโยบายเร่งด่วนของท่านผู้ว่าฯชัชชาติ ซึ่งให้ความสำคัญมาก และเร่งให้เกิดขึ้นให้ได้ แผนคือจะเพิ่มโรงพยาบาล 4 แห่ง ซึ่งที่เขตภาษีเจริญขึ้น OPD แล้ว ส่วนที่เขตสายไหม ดอนเมือง และทุ่งครุ กำลังให้ สนย.ออกแบบให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ น่าจะได้ของบประมาณปี’69 อย่างน้อยก็น่าจะเปิดอาคารฉุกเฉินได้ก่อน และได้เดิน ไปตามแผนก่อสร้างเป็นระยะ เพราะปกติการเปิดโรงพยาบาลจะต้องพ้องกับอัตรากำลังด้วย เริ่มจาก 60 เตียง แล้วขยายไป 120 เตียง การ ขยายโรงพยาบาลก็ต้องมีอัตรากำลังทั้งแพทย์และพยาบาล ซึ่งกทม.เราก็มีโรงเรียนผลิตแพทย์และพยาบาล ที่จบส่วนหนึ่งก็เข้าทำงานที่ โรงพยาบาล กทม.” รองผู้ว่าฯทวิดา กล่าว
อย่างไรก็ดี สภากรุงเทพมหานคร ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษา การก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครอบคลุม พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รายงานผลการศึกษา และข้อเสนอพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาล 3 แห่ง ดังนี้ 1.เขตยานนาวา ควรมีการก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ที่เหมาะสมคือพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ถนนพระราม 3 (ถนนเชื้อเพลิง) ขนาด 200 ไร่ กทม.อาจขอเช่าใช้พื้นที่บางส่วน 2.เขตดอนเมือง มีพื้นที่เหมาะสม 2 แห่ง คือ ค่าย ลูกเสือพิศลยบุตร ถนนสรงประภา และพื้นที่ของวัดปากน้ำภาษีเจริญ ถนนนาวงประชาพัฒนา 3.เขต ทุ่งครุ มีพื้นที่โรงเรียนฝึกอาชีพกทม. (อาทร สังขะวัฒนะ)
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 13 พ.ค. 2567