“จากรายงานข้อมูลอุบัติเหตุโดยรวมของกทม.ดูเหมือนจะลดลง ถึงแม้ข้อมูลอุบัติเหตุสงกรานต์ลดลงแต่ไม่ได้ลดอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากเราได้ทำทุกมาตรการให้เต็มที่เพื่อให้อุบัติเหตุน้อยลงแล้ว แต่อุบัติเหตุกลับไม่ลดลง เราต้องกลับมาคิดใหม่ว่าเกิดจากอะไร ซึ่งตามหลักวิชาการสาเหตุอุบัติเหตุเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ กายภาพ การบริหารจัดการและพฤติกรรม ส่วนกายภาพถือเป็นหน้าที่ของเราโดยตรง กทม.จะไม่เกี่ยงโดยต้องบริหารจัดการร่วมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยให้ได้ หากทำครบแล้วแต่ยังมีอุบัติเหตุต้องมาดูเรื่องพฤติกรรม และกลับมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเราได้ทำอะไรไปบ้าง อาจต้องเปลี่ยนวิธีการรณรงค์ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี และมาคิดใหม่ว่ามีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด หากผิดก็ให้ทำใหม่ การให้รางวัลในวันนี้เป็นการให้รางวัลที่เราสามารถเรียนรู้และก้าวหน้าได้”
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิด และวิทยากรบรรยายบนเวทีสัมมนานำเสนอผลงาน ศปถ.เขตนำร่อง ร่วมกับศปถ.เขตทุกแห่ง ในวันนี้(3 พ.ค.67) ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ตามนโยบายปลอดภัยดีของกรุงเทพมหานคร มีสิ่งที่กทม.ดำเนินการหลักคือ ปรับปรุงทางเท้า ทางม้าลาย สัญญาณไฟจราจร แก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับ เปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED ปรับระบบการขอภาพจากกล้อง CCTV ได้ภาพใน 24 ชม. รวบรวมฐานข้อมูลเมือง 28 ชุด รวบเป็น 5 Risk Map หรือฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่เสี่ยงภัยของกรุงเทพมหานคร 5 ด้าน ได้แก่ แผนที่เสี่ยงอุทกภัย แผนที่เสี่ยงอัคคีภัย แผนที่เสี่ยงมลพิษ PM 2.5 แผนที่เสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และแผนที่เสี่ยงทางถนน และการติดตั้งกล้องป้องกันภัยด้านอาชญากรรม
“จากข้อมูลทั้ง 9 เขตนำร่องยังพบอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หมายถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุสูง จึงต้องเข้าไปดูถนนนั้น ๆ ด้วยว่าทำให้เกิดความเร็วหรือไม่ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) อาจต้องเข้าไปดูระบบของกล้อง ในส่วนของฐานข้อมูลเมืองที่กทม.ได้จัดทำ ถือว่ากทม.มีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด หากหน่วยงานใดประสงค์ใช้ สามารถนำไปใช้ได้ทันที ยกเว้นฐานข้อมูลPDPAที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งกทม.จะพัฒนาข้อมูลอื่นๆให้ครบถ้วนและให้หน่วยงานต่างๆสามารถเข้ามานำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว
กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินโครงการ “รวมพลังขับเคลื่อน ศปถ.กาม. สู่ศปถ.เขต ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2565 – 2566” ร่วมกับสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ช่วยขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้เกิดเป็นรูปธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและจัดการความรู้ สู่การใช้ประโยชน์ การสร้างกระแส การติดตาม กำกับ อย่างรวดเร็วทันเวลาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ผ่านกิจกรรมของโครงการฯ โดยมีเขตนำร่องที่ร่วมดำเนินโครงการ 9 เขต ได้แก่ เขตคลองเตย เขตบางเขน เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตบางขุนเทียน เขตสวนหลวง เขตทุ่งครุ เขตทวีวัฒนา และเขตจตุจักร โดยในวันนี้ได้จัดให้มีพิธีมอบเกียรติบัตรใหแก่เขตนำร่อง และการนำเสนอผลงานของทั้ง 9 เขตนำร่อง
ทั้งนี้โครงการ “รวมพลังขับเคลื่อน ศปถ.กทม. สู่ศปถ.เขต ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2565 – 2566” มีส่วนในการป้องกันและลดอุบัติหตุทางถนน ลดการเสียชีวิต และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในกรุงเทพมหานคร และช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของศปถ.เขตนำร่อง ให้มีกลไกการทำงานที่ดีขึ้น นอกเหนือจากจุดเสี่ยงที่ถูกกำหนดเป็นตัวชี้วัดประจำปีแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเขตได้มีการประชุมหารือ ร่วมกันค้นหาจุดเสี่ยงอื่น อีกทั้งในบางเขตจัดตั้งคณะทำงานด้านการสอบสวนอุบัติเหตุระดับเขต มีทีมวิชาการที่สามารถนำข้อมูลมาสังเคราะห์แล้วกำหนดเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องการแก้ไขและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ ศปถ.เขตนำร่อง มีต้นแบบการดำเนินงานศปถ.เขต ที่ประสบความสำเร็จ มีรูปแบบการขันเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่สามารถเป็นต้นแบบให้กันศปถ.เขตอื่นๆ จำนวน 9 ผลงาน ที่ผลักดันสู่ข้อเสนอนโยนายให้ขยายผลไปยัง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การดำเนินงานศปถ.กทม. และศปถ.เขต เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนต่อไป
——————-