กทม. ต้อนรับ กมธ.งบประมาณฯ ชี้แจงความคืบหน้า 28 ประเด็นพัฒนาสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่

(19 มี.ค.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับและร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการฯ และคณะ 15 คน ในโอกาสศึกษาดูงาน เรื่อง ศึกษาการจัดทำงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ณ ห้องนพรัตน์ กทม.

 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ในเรื่องงบประมาณมีทั้งที่สภากรุงเทพมหานครออกข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานครเอง และบางส่วนต้องให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ โดยเรื่องงบประมาณจะมีรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ มาดู ซึ่งท่านมีประสบการณ์ในการเป็นรองปลัดกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาก่อน ทำให้มีประสบการณ์กับกทม.อย่างใกล้ชิด งบประมาณเป็นเรื่องยากต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์ และทีมสำนักงบประมาณที่เข้มแข็ง “หัวใจของการทำงบประมาณคือ Strategy และ action plan ที่ต้องสอดคล้องกัน ปัญหาที่เราพบตอนลงพื้นที่หาเสียง พบว่า ประชาชนต้องการเมืองน่าอยู่ และทุกคนต้องอยู่ในเมืองที่น่าอยู่ ทำให้เกิดเป็น Guiding Policy 9 ด้าน และส่งผลให้การทำงบประมาณง่ายขึ้น เนื่องจากมีทิศทาง และจาก 216 นโยบายในตอนแรก เราได้Grouping ใหม่ เหลือ 28 ประเด็นการพัฒนา โดยไม่เน้นการทำโครงการใหญ่ แต่ทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่”ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

 

จากนั้นในที่ประชุม นางสาวกนกวรรณ เอี่ยมลิ้ม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายประสพสุข พิมพโกวิท รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. ได้รายงานกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ภาพรวมงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2567 และแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รายะเอียดและความคืบหน้า การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (Zero – Based budgeting) ในการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ ปัญหาและอุปสรรคการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พร้อมแนวทางการแก้ไข

 

นอกจากนี้ ยังได้รายงานที่มาของแผนงบประมาณกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย 9ดี 9ด้าน แบ่งเป็น 28 ประเด็นการพัฒนา มีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาที่ละเอียดเพื่อให้หน่วยงานสามารถนำไปดำเนินการ โดยในปี 66-68 จะเป็นขั้นตอนการดำเนินการและปี 68-69 จะมีการติดตามประเมินผล ทั้งนี้เดิมกรุงเทพมหานครกำหนดตัวชี้วัดในลักษณะเป็นKPI ซึ่งเป็นวัดoutput แต่ขณะนี้เปลี่ยนเป็น OKR ที่วัดจากoutcome เป็นหลัก ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ในโอกาสนี้ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และรศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมตอบข้อซักถามคณะกรรมาธิการ และหลังรับฟังการบรรยาย คณะได้เยี่ยมชมสำนักงบประมาณ กทม. ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

—————————-

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200