5 พื้นที่จมฝุ่นเดินหน้า ‘เขตมลพิษต่ำ’

สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี หลายเขตค่าฝุ่นถึงระดับวิกฤตทะลุ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาพรวมทุกเขตใน กทม.อ่วมจากฝุ่นปกคลุม แม้ตอนนี้ชาว กทม.พอหายใจหายคอให้สะดวกขึ้น ไม่แสบคอ คันตา เพราะศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) คาดการณ์พื้นที่ กทม.และปริมณฑล จะมีคุณภาพอากาศดีไปถึงสัปดาห์หน้า ประชาชนสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและออกกำลังกายในช่วงนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาฝุ่นพิษได้รับการแก้ไขแล้ว ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดที่เป็นต้นตอฝุ่นจิ๋วภัยเงียบ ต้องเร่งลดการปล่อยมลพิษอากาศอย่างจริงจัง ลดการใช้รถยนต์ งดการเผาทุกชนิดเพื่อให้มีอากาศสะอาดหายใจต่อเนื่อง

ปทุมวันเป็นพื้นที่แรกในกรุงเทพฯ ที่พัฒนา โครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) สร้างกลไกความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในพื้นที่ วัด มหาวิทยาลัย และชาวกรุงเทพฯ ร่วมลดการระบายมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว ปีนี้โครงการเขตมลพิษต่ำ ซึ่งขับเคลื่อนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และภาคีเครือข่าย ขยับเข้าสู่ระยะที่ 2 มีการขยายผลเพิ่มอีก 4 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสูงสุด หรือระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ คลองสาน, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, คลองเตย และบางรัก เป้าหมายลดมลพิษอากาศในพื้นที่ โดยจัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ภาคีเครือข่ายทั้งหมดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันก่อน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศ คือต้นเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตจากทั้งหมดของประเทศ สสส.มุ่งขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นำมาสู่การพัฒนาโครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) จากแนวคิดที่มีต้นแบบจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เน้นสร้างความร่วมมือหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ วัด และประชาชน ร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ต้นทาง

สำหรับโครงการในระยะที่ 1 นำร่องในพื้นที่เขตปทุมวัน นพ.พงศ์เทพกล่าวว่า พื้นที่ปทุมวันพัฒนานวัตกรรม 3 เรื่อง ประกอบด้วยระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA-BLEZ) รายงานผลการตรวจสอบสภาพรถและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของผู้ที่ใช้รถในเขตปทุมวัน 1,000 คัน จัดบริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า สถานประกอบการในพื้นที่ ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์วัดค่า PM 2.5 ที่แสดงผลทันที ถือเป็นการสร้างมาตรการกลไกการมีส่วนร่วมลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งไฟฟ้าสาธารณะ พลังงานสะอาด ร่วมกับศูนย์การค้าจัดกิจกรรมบำรุงรักษาตรวจสอบสภาพรถ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนด เขตปทุมวันกลายเป็นถนนอากาศสะอาด ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศลงถึง 10%

“เฟส 2 เร่งขยายผลเพิ่ม 4 เขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสูงสุด ได้แก่ คลองสาน ป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเตย บางรัก ผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการต้นแบบลดมลพิษทางอากาศเพิ่ม 100 องค์กร ภายในปี 2567 ถือเป็นมาตรการสานพลังทุกภาคส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะของประชาชนที่ดีขึ้น” นพ.พงษ์เทพกล่าว

ด้าน ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้อำนวยการ ศวอ. กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการ LEZ เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการภาคเอกชนในพื้นที่เขตปทุมวัน บริเวณตั้งแต่แยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ เกิดระยะทางถนนอากาศสะอาดกว่า 1 กม. โดยมีแนวทางลดมลพิษอากาศ 5 ด้าน ได้แก่ 1.นโยบายองค์กร 2.การลดมลพิษอากาศ ขององค์กรและบุคลากรในองค์กร 3.การลดมลพิษจากไอเสียรถ ของซัพพลายเออร์ 4.การลดมลพิษจากไอเสียรถของลูกค้า 5.การติดตามประเมินและเผยแพร่ข้อมูล มีผู้ประกอบการต้นแบบในการลดมลพิษทางอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ 8 องค์กร

เขตมลพิษต่ำเป็นอีกกลไกหนุนแผนลดฝุ่นปี 2567 ของ กทม. ว่าที่ ร.ต.วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผล กระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี อยู่ที่ 47.0-105.0 มคก.ลบ.ม. ซึ่งค่ามาตรฐาน 37.5 มคก.ลบ.ม. มลพิษอากาศใน กทม. เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ การจราจรขนส่งในเขตพื้นที่เมือง และการเผาไหม้ในที่โล่ง โครงการ LEZ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นการพัฒนาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เกิดพื้นที่นำร่องเขตปทุมวันที่สร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมพัฒนานวัตกรรมลดมลพิษอากาศที่เกิดจากการใช้รถและการเผาจากการจุดธูปเทียนในบริเวณวัด ศาลเจ้า นำไปสู่การประยุกต์ใช้แนวทางควบคุมพื้นที่มลพิษต่ำในพื้นที่อื่นๆ ที่สอดคล้องตามแผนการลดฝุ่น 365 วัน ปี 67 ของ กทม.ได้ นอกจากลดฝุ่นที่แหล่งกำเนิด ยังมีแนวทางเพิ่มพื้นที่สีเขียว อย่างสำนักงานเขตคลองเตยพัฒนาพื้นที่เล็กๆ รกๆ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสวนหย่อมให้คนพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากเพิ่มพื้นที่สีเขียว ได้สร้างกำแพงกรองฝุ่นพิษด้วย

ว่าที่ ร.ต.วิรัชกล่าวด้วยว่า ช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 สูง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กทม.ได้ประกาศให้หน่วยงานในสังกัด Work from Home ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. และขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน 151 แห่ง รวม 60,279 คน ร่วม WFH ช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ต่อชั่วโมงลดลงประมาณ 8% การไม่เดินทางออกไปทำงานช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 สูง นอกจากช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่นระหว่างการเดินทางแล้ว ยังลดปริมาณการจราจรบนท้องถนน สาเหตุหนึ่งของมลพิษอากาศ สอดคล้องกับงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่พบว่า ที่มาของฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดจากรถยนต์ดีเซลสูงถึง 57% ฝุ่นทุติยภูมิ 16% การเผาในที่โล่ง 15% รถยนต์เบนซิน 8% และอื่นๆ 4% อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม. วางวิสัยทัศน์ระยะยาวภายในปี 2593 “กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ มุ่งพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีนวัตกรรมที่ยั่งยืน พร้อมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ”

ทั้งนี้ มีกิจกรรมรณรงค์รู้ทันฝุ่นพิษที่เปิดพื้นที่สื่อสารกับคนกรุง สร้างการมีส่วนร่วมลดปล่อยมลพิษ โดย ศวอ. ร่วมกับ สสส. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลด์ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ กทม. จัดงาน “The Air We Share” เปิดวงเสวนาทางวิชาการ นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะ พร้อมเวิร์กช็อปบอร์ดเกมสร้างความตระหนักรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-3 เม.ย.2567 ณ บริเวณทางเดินเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ ผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมได้และสามารถติดตามข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพจ “รู้ทันฝุ่น” นอกจากนี้ สามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่นผ่านเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอป Air4Thai และ Life Dee ซึ่งแจ้งเตือนค่าฝุ่นเรียลไทม์.

 

บรรยายใต้ภาพ

สัปดาห์ที่ผ่านมาพื้นที่กรุงเทพฯ มีฝุ่นพิษคลุมเมือง กระทบสุขภาพ

นิทรรศการแสดงระดับค่าฝุ่นพิษที่เป็นอันตราย

รณรงค์ลด PM 2.5 ในพื้นที่นำร่องเขตปทุมวัน

ลดการระบายฝุ่น PM 2.5 จากรถยนต์

เขตคลองเตยพัฒนาพื้นที่สีเขียว กำแพงกรองฝุ่น

 



ที่มา:  นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 ก.พ. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200