(9 ก.พ.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตปทุมวัน ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ ถนนวิทยุ โรงแรมย่านใจกลางเมือง ซึ่งดำเนินกิจการบนพื้นที่ของครอบครัวมาจนถึงผู้บริหารรุ่นที่ 3 ถึงแม้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจแล้ว แต่ยังคงไว้ซึ่งแนวคิดที่ยึดมั่นมาตั้งแต่รุ่นเดิม ในเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริหารทุกรุ่นยึดเป็นหลักในการทำธุรกิจคือ Clean Green Smart ให้สะท้อนออกมาในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดยืนในการเป็นโรงแรมแห่งความสุขอย่างสมดุล เน้นในเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำมาปรับใช้ ดังนี้ 1.เครื่องใช้ในห้องพัก จะเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนนำมารวมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2.คัดสรรอาหารออร์แกนิคและปราศจากสารเคมี เพื่อรังสรรค์อาหารรสเลิศ 3.การบริหารจัดการกับขยะอาหารในโรงแรม นำไปสู่การต่อยอดผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นไม้ 4.ใส่ใจความสุขของพนักงาน เพื่อเป็นพลังในการส่งต่อความสุขไปยังลูกค้าผ่านการบริการ ทั้งนี้ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ ได้จัดการเรื่อง Food Waste หรือการจัดการขยะเศษอาหารในโรงแรม โดยการเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) นำขยะอาหารที่ผ่านการคัดแยกมาเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อเป็นตัวช่วยในการย่อยและกำจัดเศษอาหาร จากนั้นจะนำหนอนแมลงวันลายที่ได้ส่งกลับไปให้ฟาร์มไก่แทนคุณออร์แกนิคฟาร์ม เพื่อเป็นอาหารโปรตีนชั้นดีในการเลี้ยงไก่ ซึ่งทางโรงแรมได้สั่งไข่และไก่เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารของโรงแรม ทำให้วงจรอาหารของโรงแรมครบสมบูรณ์ สำหรับปริมาณขยะขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 3,000 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/วัน
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ 2 เป็นการก่อสร้างอาคารโรงแรม พาณิชยกรรม ภัตตาคาร สำนักงาน ห้องประชุม และสระว่ายน้ำ ความสูง 40 ชั้น และชั้นลอย 1 ชั้น มีห้องพัก 509 ห้อง ที่จำนวน 1 อาคาร ตั้งโครงการอยู่ติดถนนราชดำริ และซอยมหาดเล็กหลวง 1 บนเนื้อที่กว่า 3 ไร่ 2 งาน ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1.ติดตั้ง Mesh Sheet โดบรอบอาคาร เพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย 2.ฉีดพรมน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างวันละ 2 รอบ 3.ปิดคลุมผ้าใบตรงจุดเก็บของ 4.ปิดคลุมผ้าใบรถบรรทุกขนส่งก่อนออกจากโครงการ 5.เก็บกวาดเศษดินทรายที่ตกหล่นบริเวณหน้าโครงการ 6.มีพื้นที่สำหรับล้างล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ 7.ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำกันฝุ่นบริเวณแนวรั้วทุกด้าน 8.พรมน้ำและกวาดทำความสะอาดพื้นที่ในอาคารเป็นประจำเพื่อลดการสะสมฝุ่นละออง 9.ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและมีจอแสดงผลด้านหน้าทางเข้าโครงการ
พร้อมกันนี้ เขตฯ ได้ตรวจวัดค่าควันดำรถกระบะ รถบรรทุก รถโม่ปูน รถรับ-ส่งคนงานที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ โดยได้ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล โดยรถที่ตรวจวัดควันดำผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะได้รับสติ๊กเกอร์ติดบริเวณหน้ากระจกรถ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือนๆ ละ 2 ครั้ง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ติดตามความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนหลังสวน ผู้ค้า 24 ราย อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ทำการค้ารอประกาศจากกรุงเทพมหานคร ผู้ค้า 34 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-19.00 น. ผู้ค้า 7 ราย รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 58 ราย อย่างไรก็ตาม การตั้งวางสิ่งของผู้ค้าในบริเวณดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการเดินทางสัญจรของประชาชนทั้งบนทางเท้าและพื้นผิวจราจร ซึ่งผู้ค้าได้ตั้งวางสินค้าทำให้ด้านหลังร้านตามแนวถนนไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งเมื่อลูกค้าจอดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เพื่อซื้อสินค้า ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด เขตฯ จึงได้กำหนดให้ผู้ค้าหยุดทำการค้า ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์ และจัดประชุมผู้ค้าให้ทราบถึงมาตรการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนร่วมในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนดไว้ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 18 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 387 ราย ประกอบด้วย 1.ซอยต้นสน ผู้ค้า 17 ราย 2.ซอยร่วมฤดี ผู้ค้า 5 ราย 3.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 24 ราย 4.ซอยปลูกจิตต์ ผู้ค้า 24 ราย 5.ซอยโปโล ผู้ค้า 3 ราย 6.ตลาดประตู 5 สวนลุมฯ ผู้ค้า 108 ราย 7.ถนนพญาไท หน้าห้างสยามสเคป ผู้ค้า 9 ราย 8.ซอยเกษมสันต์ 1 ผู้ค้า 9 ราย 9.ซอยเกษมสันต์ 3 ผู้ค้า 3 ราย 10.ซอยจุฬาลงกรณ์ 4 ผู้ค้า 7 ราย 11.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ผู้ค้า 99 ราย 12.สะพานหัวช้าง ถนนพระรามที่ 1 ผู้ค้า 6 ราย 13.จรัสเมือง ตรงข้ามสีตบุตร ผู้ค้า 16 ราย 14.ถนนพระรามที่ 6 จรัสเมือง หน้าแฟลตรถไฟ ผู้ค้า 8 ราย 15.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันตก ผู้ค้า 4 ราย 16.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันออก ผู้ค้า 35 ราย 17.ถนนรองเมือง พระราม 6 หน้าส.โบตั๋น ผู้ค้า 6 ราย 18.ถนนรองเมือง ริมรั้วรถไฟ ผู้ค้า 4 ราย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เขตฯ ดำเนินการยกเลิกผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าริมถนนเพลินจิต จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.ใต้ทางด่วนเพลินจิต ผู้ค้า 10 ราย 2.หน้าอาคารมหาทุน ผู้ค้า 11 ราย 3.หน้าการไฟฟ้านครหลวง ผู้ค้า 13 ราย นอกจากนี้ ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2567 ดำเนินการยกเลิกผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้ารอประกาศจากกรุงเทพมหานคร บริเวณตลาดโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ ผู้ค้า 20 ราย
ในการนี้มี นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตปทุมวัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)