(30 ม.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ประกอบด้วย
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณท่าน้ำพรานนก ถนนวังหลัง เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 587 ราย ได้แก่ 1.ท่าน้ำพรานนกฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช ถนนวังหลัง (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 123 ราย 2.ปากตรอกวังหลัง ถนนอรุณอมรินทร์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 25 ราย 3.ซอยแสงศึกษา ฝั่งนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 38 ราย 4.หน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 181 ราย 5.หน้าตลาดบางกอกน้อย ถนนอิสรภาพ (ทั้ง 2 ฝั่ง) ผู้ค้า 30 ราย 6.ตลาดบางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 172 ราย และ 7.ไปรษณีย์บางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 18 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกหรือยุบรวมจุดทำการค้าบริเวณหน้าตลาดบางกอกน้อย ถนนอิสรภาพ (ทั้ง 2 ฝั่ง) ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 19 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 147 ราย ได้แก่ 1.ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 2 ราย 2.ถนนอิสรภาพหน้าร้าน 7-11 ผู้ค้า 4 ราย 3.หน้าที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ผู้ค้า 2 ราย 4.เวิ้งปิ่นเกล้า ผู้ค้า 7 ราย 5.ปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 ผู้ค้า 1 ราย 6.หน้าวัดเจ้าอามและฝั่งตรงข้ามวัด ผู้ค้า 12 ราย 7.หน้าห้างโลตัสบางขุนนนท์ ผู้ค้า 7 ราย 8.หน้าไปรษณีย์บางขุนนนท์ ผู้ค้า 8 ราย 9.ปากซอยบางขุนนนท์ 2 ผู้ค้า 3 ราย 10.ปากซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3-5 ผู้ค้า 17 ราย 11.หน้าห้างแม็คโคร ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ผู้ค้า 19 ราย 12.ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ผู้ค้า 2 ราย 13.หน้าธนาคารกรุงเทพ สามแยกไฟฉาย ผู้ค้า 3 ราย 14.ถนนบางขุนนนท์ ทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้า 20 ราย 15.ปากซอยแสงศึกษา หน้าโรงพยาบาลธนบุรี ผู้ค้า 13 ราย 16.หน้าโรงเรียนชิโนรส ผู้ค้า 7 ราย 17.ถนนอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 3 ราย 18.ปากซอยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ผู้ค้า 8 ราย และ 19.ตรงข้ามห้างพาต้า ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีแผนยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.ปากซอยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 2.ถนนอรุณอมรินทร์ 3.ปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 4.หน้าห้างโลตัสบางขุนนนท์ 5.ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 6.หน้าธนาคารกรุงเทพ สามแยกไฟฉาย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทำการค้า กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า หรือเกินแนวเส้นที่เขตฯ ขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตไว้ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 คอนโดลุมพินีวิลล์จรัญ-ไฟฉาย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 22 ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย จำนวน 3 อาคาร ประกอบด้วย อาคาร A ความสูง 21 ชั้น อาคาร B ความสูง 23 ชั้น อาคาร Cความสูง 22 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการล้างทำความสะอาดพื้นด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการ ติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำและเปิดในช่วงการปฏิบัติงานตลอดเวลา ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรถที่ตรวจวัดค่าควันดำผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะได้รับสติ๊กเกอร์ติดบริเวณด้านรถ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทพ่นสีรถยนต์ 5 แห่ง ประเภทสถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) 1 แห่ง ประเภทสะสมทราย 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดปฐมบุตรอิศราราม ซอยจรัญสนิทวงศ์ 45 พื้นที่ 203 ตารางวา มีครูบุคลากรและนักเรียน 136 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ มีถังขยะแยกประเภทข้างห้องครัวและอ่างล้างจาน นักเรียนคัดแยกเศษอาหารก่อนทิ้ง ส่วนหนึ่งนำไปเป็นอาหารสัตว์ให้ประชาชนบริเวณโรงเรียน เศษผลไม้ทำน้ำหมักผลไม้ เศษที่เหลือแม่ครัวรวบรวมมายังจุดทิ้งขยะ ส่วนเศษใบไม้นักการรวบรวมไว้จุดทิ้งขยะ เขตฯ มารับขยะทุกวันศุกร์ 2.ขยะรีไซเคิล มีถังขยะแยกประเภทไว้ตามจุดหน้าอาคารเรียน โครงการโรงเรียนปลอดขยะ จัดกิจกรรมธนาคารขยะสะสม PET โดยให้นักเรียนนำขยะที่เป็นขวดพลาสติก PET มาสะสมในสมุดสะสมแต้ม นำมาแลกของรางวัลทุกสิ้นเดือน จากนั้นรวบรวมนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า ส่วนกล่องนมจะล้างทำความสะอาด นำมาใส่ในถังขยะรีไซเคิลวิชาการงานอาชีพและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนที่เหลือจะประสานเขตฯ รวบรวมบริจาคตามโครงการหลังคาเขียวมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก กระดาษหน้าเดียวนำมารียูสทำเป็นใบงานให้นักเรียน กล่องลังกระดาษนำมาประดิษฐ์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน ส่วนกระดาษและกล่องลังกระดาษที่ไม่ใช้ จะนำไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า 3.ขยะทั่วไป มีถังขยะที่ทิ้งเฉพาะขยะทั่วไปในห้องเรียน นักเรียนรวบรวมนำมาทิ้งในจุดทิ้งขยะทุกวัน มีถังขยะแยกประเภทไว้ตามจุด นักการรวบรวมมาจุดทิ้งขยะ เขตฯ จัดเก็บวันเว้นวัน 4.ขยะอันตราย มีถังขยะแยกประเภทไว้ตามจุด นักการรวบรวมมาจุดทิ้งขยะ เขตฯ จัดเก็บทุกเดือน สำหรับปริมาณขยะหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 25 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.1 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อ หลังคัดแยก 0.1 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานกับทางโรงเรียนในการบันทึกสถิติของปริมาณขยะก่อนคัดแยก เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับปริมาณขยะหลังคัดแยก เพื่อให้ทราบถึงความสำเร็จจากการคัดแยกในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ติดตามความก้าวหน้าการจัดทำจุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service) บริเวณชั้น 3 ห้างโลตัส สาขาปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย เพื่อเพิ่มจุดบริการแก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร อาทิ งานทะเบียนบัตรประชาชน งานทะเบียนราษฎร งานด้านสวัสดิการสังคม การลงทะเบียนผู้สูงอายุ การจดทะเบียนพาณิชย์ โดยสามารถเข้าถึงงานบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการเดินทาง ลดความแออัดของพื้นที่ให้บริการในสำนักงานเขต ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ ทาสีตกแต่งภายในแล้วเสร็จ คงเหลือในส่วนของการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ระบบอินเตอร์เน็ต จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน และจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด พร้อมทั้งทดสอบระบบการทำงานทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2567
ในการนี้มี นายวรชล ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกน้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส./ณิชนันทน์…นศ.ฝึกงาน รายงาน)