(12 ธ.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Making Bangkok a Sustainable City for Everyone” โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ประกอบด้วย นักเรียน ผู้ปกครอง และอาจารย์ โรงเรียนนานาชาติเคไอเอส จำนวน 300 คน ร่วมรับฟังการบรรยาย ณ โรงละครโรงเรียนนานาชาติเคไอเอส เขตห้วยขวาง
“เมืองที่ยั่งยืน หมายถึง การไม่เอาทรัพยากรในอนาคตมาใช้ตอนนี้ แต่ต้องเตรียมเมืองที่มีคุณภาพให้กับคนรุ่นต่อไป ทุกวันนี้เรามีปัญหาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลต่ออนาคตของลูกหลาน เพราะปัจจุบันเราทำให้เกิดมลพิษ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องหารือหรือแก้ไขปัญหาความยั่งยืน เพราะเรากำลังทำให้ทรัพยากรในอนาคตของลูกหลานหมดลง ปัจจุบันนี้เราเห็นปัญหาผลกระทบจาก pm2.5 ปัญหาจากหลุมฝังกลบขยะ ปัญหาน้ำเสียในคลอง ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีแพลตฟอร์มมากมายเพื่อรองรับปัญหาจากอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก ดังนั้นวิธีที่เราบริหารจัดการจะส่งผลดีต่อทรัพยากรในอนาคต อาทิ นโยบาย 9 ดี 9 ด้าน 216 ข้อ ของ กทม. 3 เรื่อง คือ คุณภาพชีวิตของคน เช่น ฝุ่น PM 2.5 น้ำเสีย ขยะ ทางเดินเท้า ความปลอดภัย ฯลฯ การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เป็นการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่มีทุจริตคอร์รัปชัน และ การเปิดโอกาสให้คนเมือง เช่น โอกาสทำธุรกิจต่าง ๆ ซึ่ง กทม. มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจจัดเทศกาลต่าง ๆ การหาอัตลักษณ์เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายให้กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ใน 50 เมืองน่าอยู่” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
สำหรับการบรรยายดังกล่าว ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้พูดถึง 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ ไม่มีความยากจน ไม่หิวโหย สุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ น้ำสะอาด พลังงานสะอาดราคาย่อมเยา สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน ส่งเสริมนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน ปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังบรรยายถึงนโยบายส่งเสริมสวนบนดาดฟ้าและชุมชนเพื่อความมั่นคงทางอาหาร Bangkok food bank (สร้างซูเปอร์มาร์เก็ตธนาคารอาหารสำหรับผู้คนที่มีความต้องการสามารถหยิบอาหารที่เหลือกินได้) จุดให้บริการสำหรับคนไร้บ้านแบบครบวงจร เช่น ตรวจสุขภาพ ให้บริการบัตรประจำตัวประชาชน อาบน้ำและซักเสื้อผ้า การลงทะเบียนจัดหางาน ระบบ TelaMedicine (ดำเนินการให้บริการการแพทย์ทางไกลเพื่อขยายการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ) Saturday School (ร่วมมือกับองค์กรและชุมชนในการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนวันเสาร์ในโรงเรียนสังกัด กทม.) การส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น
ทั้งนี้ โรงเรียนนานาชาติเคไอเอส ได้กำหนดหน่วยการเรียนรู้ (Unit of Inquiry) สำหรับนักเรียนชั้นเกรด 4 -เกรด 8 (เทียบเท่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – มัธยมศึกษาปีที่ 2) ในหัวข้อเรื่องปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร อาทิ คุณภาพน้ำ ระบบการระบายน้ำ ปัญหาต่าง ๆ ที่ลุกลามไปในระดับโลก เช่น ปัญหาด้านขยะมูลฝอย เป็นต้น ภายใต้หัวข้อ “Making Bangkok a Sustainable City for Everyone” เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจในหัวข้อเหล่านี้ โรงเรียนจึงได้จัดโครงการอบรมขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ ตลอดจนการนำภาวะผู้นำมาใช้ในการบริหารจัดการปัญหาที่ท้าทายเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จ โดยนำประสบการณ์จากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีความรู้ ความสามารถ เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ นำมาถ่ายทอดในการบรรยายเพื่อเป็นประโยชน์และแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน
———————