(10 ธ.ค. 65) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมสนทนาหัวข้อ “ถอดรหัสแนวทางการจัดตั้งธนาคารอาหารแห่งชาติ บทเรียนน่ารู้สำหรับประเทศไทย ในงานเสวนาด้านความยั่งยืนทางอาหาร ในงานเสวนา Zero Summit 2022 ซึ่ง มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance Foundation : SOS) จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Regenerative and Recovery Future” เพื่อทวงถามถึงแนวทางการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตของประเทศไทย โดยมี นายเครก เนมิทซ์ (Mr. Craig Nemitzthe) ผู้อำนวยการฝ่ายบริการภาคสนามประจำภูมิภาคเอเชียแปชิฟิก The Global Foodbanking Network นายชุง มู ซัง (Mr. Chung Moo Sung) รองประธานบริหารสภาสวัสดิการสังคมแห่งชาติและธนาคารอาหารแห่งชาติเกาหลีใต้ ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และอนุกรรมการและเลขานุการ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตรและอาหาร ร่วมสนทนา ณ บริเวณชั้น 3 True Digital Park ฝั่ง West (อาคารใหม่) เขตพระโขนง
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวในงานเสวนาว่า สำหรับธนาคารอาหารสิ่งแรกจะพูดถึงคืออาหารที่เหลือหรืออาหารที่เป็นส่วนเกิน ที่จะนำอาหารให้กับผู้ที่ต้องการจะรับอาหารดังกล่าว ในช่วงปี 2016 จะมีพื้นที่ที่เรียกว่าสลัม มีชุมชนทั้งหมดประมาณ 500 ชุมชน พื้นที่นั้นสภาพแวดล้อมอาจไม่ค่อยดี และคนที่อาศัยส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ เป็นผู้ด้อยโอกาส กรุงเทพมหานครพยายามจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมในการช่วยเหลือชุมชนเหล่านั้นให้ได้รับอาหารและงาน ขอบคุณ SOS ที่ให้แรงบันดาลใจ เรามีความพยายามอย่างมากในการทำความเข้าใจกับโมเดลจากเกาหลี และโมเดลของ SOS แล้วนำมาปรับใช้กับประเทศไทย กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากองค์กร และร้านอาหารต่าง ๆ มากมายที่ร่วมบริจาคอาหาร ซึ่งองค์กรและร้านอาหารเหล่านั้นมีอาหารส่วนเกินเยอะมาก และกรุงเทพมหานครได้ลงนาม MOU กับ SOS เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารมีสภาพที่ดี ยังคงมีคุณภาพอยู่ เนื่องจากไม่อยากให้ผู้รับได้รับอาหารที่ไม่ดี ซึ่งเมื่อกรุงเทพมหานครได้รับอาหารจากผู้บริจาค องค์กร หรือร้านอาหารต่าง ๆ ก็ได้ส่งต่อให้ชุมชน กลุ่มเปราะบาง หรือผู้ด้อยโอกาสต่อไป
“กรุงเทพมหานครมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด การที่จะขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ หรือผู้เกี่ยวข้อง เป็นสิ่งสำคัญ และต้องระมัดระวังเมื่อพูดถึงการพัฒนาทางด้านสังคมหรือความไม่เท่าเทียมกันของชุมชน รวมถึงพยายามส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กับคนที่ต้องการ อีกทั้งพยายามให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างคนรวยและคนจน โดยมุ่งเน้นเรื่องอื่น ๆ และการให้บริการทางสังคมด้านต่าง ๆ และช่วยให้คนในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น บางครั้งไม่ได้ต้องการแค่อาหาร แต่ต้องการอย่างอื่นในการใช้ชีวิตด้วย เช่น การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
———————————- (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)