นายศานนท์หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ภายหลังรับความคิดเห็นจากการประชุมประชาคมคนพิการ ขั้นตอนต่อไป คือ การร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม, สสส.มูลนิธิกระจกเงา และกลุ่มอื่นๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ผู้พิการนำเสนอ ปัจจุบันอยู่ระหว่างวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อกำหนดงบประมาณและดำเนินการต่อไปทั้งนี้เรื่องที่ดำเนินการได้ในทันทีคือ การจ้างงานผู้พิการ กทม. ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ในการเป็นพี่เลี้ยงผู้พิการระยะแรก ฝึกอบรมทำความเข้าใจการทำงานระหว่างผู้พิการกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขต รวมถึงเพื่อให้เขตกำหนดตำแหน่งงาน วางคุณสมบัติให้ตรงกับสภาพผู้พิการ ซึ่งต้องเกิดความพอใจสามารถทำงานได้ทั้งฝ่าย กทม. และฝ่ายผู้พิการ เนื่องจาก กทม.ต้องการให้ผู้พิการได้ใช้ศักยภาพในการทำงาน ปัจจุบันเริ่มนำร่องแล้วที่เขตบางขุนเทียนและเขตภาษีเจริญ คาดว่าจะพบข้อปรับปรุงและดำเนินการให้เหมาะสมภายใน 3-4 สัปดาห์จากนี้
นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าข้อเสนอจากผู้พิการที่ต้องการให้โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นโรงเรียนเรียนรวม ที่ไม่มีห้องเรียนพิเศษสำหรับแยกเด็กพิเศษไปนั่งเรียนเฉพาะ ซึ่งหากมีห้องแยกเด็กพิเศษไปนั่งเรียนต่างหากเรียกว่า การเรียนร่วมแต่ในโรงเรียนเรียนรวม ตามข้อเสนอแนะนั้นเด็กพิเศษสามารถนั่งเรียนรวมกับเด็กปกติในห้องเรียนอื่นๆ ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการปรับปรุงโรงเรียนให้มีความพร้อมรองรับ ปัจจุบัน กทม.เปิดเรียนรวมแล้ว 158 แห่ง อยู่ระหว่างจัดฝึกอบรมครูเรื่องความรู้ความเข้าใจคนพิการ เพิ่มวิทยฐานะ เพื่อขยายให้ครบ 400 โรงเรียน ในปี 2567 โดยสำนักการศึกษาได้รับงบประมาณจัดฝึกอบรมหลักสูตร 200 ชั่วโมง ให้กับครูแต่ละรุ่น ตามนโยบายให้ครูทุกคนเป็นครูการศึกษาพิเศษ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการอนุมัติหลักสูตร คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 24 ต.ค. 2566