สธ.-ภาคีเครือข่าย รณรงค์โรคมะเร็งในสตรี มุ่งลดการป่วยและเสียชีวิต

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน จัดงานประชุมหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรี พร้อมรณรงค์การดูแลโรคมะเร็งในสตรี ภายใต้สโลแกน “สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง” เนื่องใน เดือนรณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็ง เต้านม เดินหน้านโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม การป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัยและรักษา ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง พร้อมผลักดัน Quick Win ฉีดวัคซีน HPV ให้หญิงอายุระหว่าง 11-20 ปี 1 ล้านคนทั่วประเทศ เดือน พฤศจิกายนนี้

ที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรี และโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรี ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Women’s Cancer Care : Thailand Women Cancer Policy Forum” โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมงาน

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมะเร็ง ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะ โรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกที่พบมากในผู้หญิงไทย กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดเรื่อง “มะเร็ง ครบวงจร” เป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงานปี 2567 ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม การป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัยและรักษา ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยมี Quick Win ที่จะเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลใน 100 วันแรก คือ การฉีดวัคซีน HPV ให้กับหญิงอายุระหว่าง 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านคน ซึ่งจะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขามะเร็ง ให้ครอบคลุมประชาชนในทุกเขตสุขภาพมีการดูแลรักษาส่งต่ออย่างเป็นระบบ และเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ หรือ มะเร็ง รักษาได้ทุกที่ (Cancer Anywhere) เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของประชาชน

ทั้งนี้ เดือนตุลาคมของทุกปี ถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็งเต้านม กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม จัดการประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งปากมดลูก ตลอดจนการสังเกตอาการเบื้องต้นจากแพทย์ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ มาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับมาตรการ และแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้การป้องกัน ควบคุมโรคมะเร็งในสตรีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป, การ คัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการคลำโดยผู้เชี่ยวชาญ, การตรวจ Mammogram ในผู้ที่ได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงสูง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมีบูธ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้นนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จัดขึ้นภายใต้สโลแกน “สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง” หรือ “Women Power No Cancer”

“สธ. พัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง ให้ครอบคลุมประชาชน ในทุกเขตสุขภาพ มีการดูแลรักษาและส่งต่ออย่างเป็นระบบ และเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ หรือที่เรียกว่า มะเร็งรักษาได้ทุกที่ Cancer Anywhere เพื่อให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งของประชาชน นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยตัวเอง จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการช่วยป้องกันโรคมะเร็งในสตรี และเชื่อว่าหากมีการตรวจคัดกรองมากขึ้น ก็จะช่วยให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งได้กว่า กึ่งหนึ่ง อีกทั้งการตรวจคัดกรองและพบว่าป่วยมะเร็งในระยะแรกเลย จะยิ่ง ทำให้เพิ่มโอกาสทางการรักษาให้หายขาด ได้ถึง 90% ดังนั้น บุคลากรการแพทย์ รวมถึง สธ. เอง ต้องมาวางแผนร่วมกันเพื่อดูแลมะเร็งครบวงจร และ ขณะเดียวกัน ก็สร้างการรับรู้ และตระหนักรู้ในภาคสังคมเกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งด้วยตัวเองให้มากขึ้น โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองทั้งจากโรงพยาบาล หรือตรวจคัดกรองด้วยตัวเองให้มากขึ้นด้วย” รมว.กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับบริการที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง ทาง สปสช. มีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม ทุกขั้นตอน รวมถึงสามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ (cancer anywhere) แต่แรกสุดยังแนะนำ และอยากจะประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้มีการตรวจคัดกรองด้วยการคลำตนเองก่อน อันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในทางวิชาการสำหรับคัดกรองเบื้องต้น และเมื่อพบหรือสงสัยว่ามีก้อนเนื้อ ก็เข้าสู่กระบวนการตรวจเพิ่มเติมสำหรับยืนยันได้ที่สถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการใช้แมมโมแกรม หรืออัลตราซาวนด์ ซึ่งเมื่อได้ผลยืนยันแล้วก็รับการรักษา ได้เลย โดยตอนนี้มีการทำศูนย์การรักษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งต้องยอมรับว่าปัจจุบัน การรักษามะเร็งในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้าน การใช้ยามีความก้าวหน้ามาก และค่อนข้าง ได้ผลดีมากด้วย ฉะนั้นสิ่งที่ สปสช. ยังไม่หยุดก็คือการดูว่ามียาตัวไหนที่ออกมาใหม่และมีประสิทธิภาพในการรักษาดีก็จะเพิ่มเข้าในภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยขณะนี้กำลังติดตามอยู่หลายตัว

ด้าน รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก เป็น มะเร็งที่อุบัติขึ้นมากที่สุด และเป็นสาเหตุ การเสียชีวิตมากที่สุดเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจ คือมะเร็งทั้ง 2 ชนิด สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก ที่ปัจจุบันเรารู้แล้วว่า ไวรัส HPV คือสาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ และยังหาทางป้องกันได้ผ่านการตรวจคัดกรอง รวมถึงทำให้สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว ซึ่งจะมีโอกาสรอดชีวิต แต่เป็นเรื่อง น่าเสียดาย ที่ปัจจุบันเราป้องกันมะเร็ง ปากมดลูกได้แล้ว ทั้งการตรวจโดยแพทย์ หรือการตรวจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอุปกรณ์การตรวจก็เป็นที่แพร่หลาย ใช้งาน ไม่ยาก สะดวกและรวดเร็ว แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ป่วยหน้าใหม่จำนวนมาก และยังมีผู้เสียชีวิตสูงเช่นกัน ดังนั้น การลดตัวเลขผู้ป่วยหน้าใหม่ รวมถึงลดตัวเลขผู้เสียชีวิต จะต้องรณรงค์กันอย่างจริงจัง รวมถึงควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้หญิงไทยเกี่ยวกับ มะเร็งในสตรีให้มากขึ้น

รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน นายก สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนเรื่องมะเร็งเต้านมมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมา อาจมีอุปสรรคปัญหา แต่ปัจจุบันที่รัฐบาล สธ. และ สปสช. ให้ความสำคัญกับการดูแลป้องกันมะเร็งเต้านมอย่างจริงจัง ด้วยการเพิ่มการบริการที่ครอบคลุม และยังมีชุดสิทธิประโยชน์การตรวจ คัดกรองมะเร็งเต้านมที่ทำให้กลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไปได้ตรวจคัดกรองมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับประเทศ ที่จะมี โอกาสลดการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม รวมถึงลดจำนวนผู้ป่วยหน้าใหม่ไปด้วย

นอกจากนี้ การรณรงค์เพื่อ ลดผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ยังเป็นเป้าหมาย สำคัญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกมีมาตรการจัดการกับเรื่องนี้ ซึ่งมองกลับมายังประเทศไทย ด้วยศักยภาพของระบบสุขภาพในประเทศที่ทำได้ดีกว่าอีกหลายแห่ง และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ หากจะจัดการปัญหามะเร็งเต้านมบนเป้าหมายลดตัวเลข ผู้เสียชีวิต ก็เชื่อว่าสามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจาก 4 ด้าน ในสังคมด้วยกัน คือ 1. บุคลากร การแพทย์ด้านมะเร็งที่มีคุณภาพ และเพียงพอ 2. สธ. ทำหน้าที่คอยบริหารจัดการบริการสุขภาพสาขามะเร็ง 3. สปสช. ที่คอยผลักดันชุดสิทธิประโยชน์ ให้กับผู้ป่วย และ 4. ประชาชน ที่จะได้รับ องค์ความรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น โดยทั้ง 4 เสาที่เข้มแข็ง หากเดินหน้าบนเป้าหมายเดียวกันอย่างเป็นระบบ นั่นคือการรณรงค์ลดการเสียชีวิต การเกิดมะเร็งเต้านม เชื่อว่าจะช่วยให้การป้องกันผ่านการตรวจคัดกรองมะเร็ง เต้านมในประเทศดีขึ้น

 

บรรยายใต้ภาพ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ

รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน

 

 

ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 24 ต.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200