กทม.เก็บค่าโดยสารสายสีเขียว 15 บาท ส่วนต่อขยาย 1 ไม่เกิน 62 บาทเริ่มต้นปี’67

กทม.หารือเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 (หมอชิต-คูคต, แบริ่ง-สมุทรปราการ) 15 บาท รวม ส่วนต่อขยาย 1-เส้นหลักไม่เกิน 62 บาท เริ่มต้อนรับปีใหม่ 2567

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ล่าสุดคณะผู้บริหาร มีนโยบายที่จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ แบริ่ง- สมุทรปราการ (ชั่วคราว) ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย รวมส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า กับเส้นทางหลักค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 62 บาท ซึ่งอัตราดังกล่าวไม่เป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป และให้ กทม.มีรายได้ จากข้อมูลจำนวนผู้โดยสารที่ใช้ เส้นทางส่วนต่อขยายประมาณ 250,000 คน- เที่ยวต่อวัน มีรายได้ราว 3-4 ล้านบาท ต่อวัน จากปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร แต่อย่างใด ทำให้ กทม.มีภาระค่าใช้จ่าย ในการบริหารจัดการโครงการและการจ้าง เดินรถเป็นเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท โดย กทม.ให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วน ถูกต้องตามกฎหมายก่อนเสนอผู้ว่าฯกทม. ออกประกาศฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือถูกฟ้องร้องภายหลัง

นายวิศณุกล่าวว่า การออกประกาศ กรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม.ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยต้องปฏิบัติตามมติ ที่ประชุมครม. วันที่ 26 พ.ย. 2561 ให้กระทรวงคมนาคม และ กทม. บูรณาการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสาย ต่างๆ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าแรกเข้า และการใช้ระบบตั๋วร่วมให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

นอกจากนี้ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 163/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 652/2566 ลงวันที่ 12 เม.ย. 2566 เพิกถอนประกาศ กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 15 ม.ค. 2564 เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ที่ 15-104 บาท โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ขณะนั้น เนื่องจาก การออกประกาศฉบับดังกล่าว กทม. และผู้ว่าฯกทม. ไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 แม้ว่า กทม.และผู้ว่าฯกทม.มีความเป็นอิสระตามหลักแห่งการปกครองตนเองและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายมิได้บัญญัติว่าการบริหารจัดการบริการสาธารณะและการพิจารณากำหนดอัตราค่าบริการดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาและเห็นชอบของครม.ก็ตาม

นายวิศณุกล่าวอีกว่า จากการประชุมบูรณาการ เรื่องการเก็บ ค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมการขนส่ง ทางราง (ขร.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ซึ่ง กทม.โดยสจส. มอบหมายให้บริหารจัดการเดินรถสาย สีเขียวส่วนต่อขยาย ที่ 1 และ 2 ที่ประชุม ไม่ขัดข้อง โดยให้พิจารณาเรื่องระบบตั๋วร่วมจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ที่สถานีสำโรง และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ที่สถานีวัดพระศรีฯ บางเขน

เบื้องต้นกทม. เก็บค่าโดยสารชั่วคราว 15 บาท ตลอดสายเฉพาะส่วนต่อขยาย ไม่มีค่าแรกเข้า เมื่อเปลี่ยนระบบให้จ่ายค่าโดยสารของเส้นทางนั้นๆ ตามปกติ อย่างไรก็ตามกทม.ได้เตรียมพร้อมการติดตั้งระบบตั๋วร่วมรองรับการเก็บค่าโดยสารเต็มระบบตามระยะทางเชื่อมต่อกับโครงการอื่นๆ ในอนาคตไว้แล้ว จากนี้ กทม.จะเร่งสรุปผลพร้อม ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบ อีกครั้ง รวมถึงตรวจสอบการทำสัญญาแยกหนี้ค่างานติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) ออกจากหนี้ค่าระบบงานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตามผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ สภากทม. ที่มอบให้ฝ่ายบริหารดำเนินการว่า กทม.สามารถทำได้หรือไม่ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วกทม.จะรายงานกระทรวงมหาดไทย และ ครม.รับทราบ หาก เห็นชอบ ผู้ว่าฯกทม.จึงลงนาม ออกประกาศใช้ล่วงหน้า 30 วัน คาดว่าจะเริ่มเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ในเดือนม.ค. 2567

 

 

ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 16 ต.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200