เทคโนโลยีเชื่อม’ปลอดภัยสาธารณะ’ท่ามกลางข้อระวัง…ความเป็นส่วนตัว

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน

ควันหลงเหตุกราดยิงในห้างกลางเมืองหลวง แม้ในทางคดีจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปแล้ว แต่ประเด็นที่สังคมยังให้ความสนใจและติดตามความคืบหน้าต่อเนื่องด้วยความห่วงใยคือ การแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉิน และมาตรการที่จะเพิ่มความปลอดภัยในที่สาธารณะ ซึ่งหลายหน่วยงานมีการนำเสนอหลากหลายวิธีรับมือ

หนึ่งหน่วยงานที่นำเสนอไว้น่าสนใจคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ที่มองความปลอดภัยในที่สาธารณะเป็นประเด็นที่ต้องขยับให้เห็นชัดเจน เพราะ กทม.เป็นจุดหมายยอดฮิตในการเดินทางมาท่องเที่ยวของนานาชาติ พร้อมแนะนำการเพิ่มศักยภาพระบบความปลอดภัยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก เทคโนโลยี AI เชื่อมโยงกล้องวงจรปิดและพัฒนาการแจ้งข้อความเตือนนั้น

“ทีมข่าวชุมชนเมือง” ติดตามความคืบหน้ามาตรการเพิ่มเติมหลังเหตุร้ายคลี่คลาย และเริ่มเข้าสู่กระบวนการหามาตรการป้องกันเหตุในอนาคต รวมถึงข้อเสนอของ สจล. จะมีความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนมากน้อยแค่ไหน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า ข้อเสนอแนะให้นำเทคโนโลยี AI มาเสริมกับกล้องวงจรปิด เพื่อช่วยในการตรวจจับผู้กระทำความผิด สร้างความปลอดภัยในที่สาธารณะนั้น ขณะนี้ตำรวจเองเริ่มนำเทคโนโลยี ดังกล่าวมาใช้แล้วบางโซน เรียกว่า Smart Safety Zone 4.0 ที่นำ AI มาช่วยวิเคราะห์

ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่าสนใจที่เคยมีการพูดกันว่าจะนำเทคโนโลยีตัวใดมาใช้ได้ แต่โดยหลักการคือการใช้ของที่มีอยู่แล้วนำเทคโนโลยีเข้าไปจับ ที่สำคัญต้องระวังเรื่องข้อมูลและ “ความเป็นส่วนตัว”

ปัจจุบันแนวทางการใช้เทคโนโลยีของ กทม. ที่ทำไปแล้วคือแพลตฟอร์ม “ทราฟฟี่ฟองดูว์” (Traffy Fondue) ที่ให้ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ดำเนินการเพิ่ม “ฟีเจอร์” การแจ้งเหตุ-เตือนภัย อีกเรื่องคือการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น เช่น กสทช. เพราะจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์

อย่างไรก็ตาม การเตือนภัยมองว่าควรมีในระดับภาพรวมของประเทศ ไม่ใช่แยกเป็น กทม. ปภ. หรือรัฐบาล หากจะทำให้ดีควรทำน้อยอันจะได้ไม่ซ้ำซ้อน ขณะที่การส่งข้อความเตือนอาจเลือกส่งให้เข้ากับบริบทพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนไม่สับสน

“ขณะนี้ผู้พัฒนาอยู่ระหว่างการเพิ่มฟังก์ชันนี้ และพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย เพราะที่ผ่านมาทราฟฟี่ฟองดูว์ใช้เป็นระบบไลน์ซึ่งคนไทยคือผู้ใช้เป็นหลัก นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะไม่ได้ข้อมูล แต่ หากมีแอปเฉพาะ ไม่ได้ใช้ไลน์แต่ใช้เป็น เว็บเบส (web based) เมื่อนักท่องเที่ยว ต่างชาติโหลดทราฟฟี่ฟองดูว์ก็จะสามารถแจ้งปัญหาต่าง ๆ ที่พบเจอระหว่างการท่องเที่ยวได้เลย”

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รอง ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ ปัจจุบันมีการปรับปรุงแผนการแจ้งข่าวหลายด้านทั้งการติดต่อไลน์ ประเทศไทย โดย กทม. เป็นผู้ส่งข้อมูลให้ และแจ้งเตือนผ่านระบบไลน์ (LINE ALERT) เช่น ข้อมูลฝุ่น PM 2.5 พร้อมวาง แผนนำข้อมูลอุทกภัย ระดับน้ำ ปริมาณฝน ตลอดจนข้อมูลพยากรณ์ที่จะกระทบประชาชนเข้าสู่ Line OA ของ กทม. ซึ่งเป็นการดำเนินการด้วยระบบและข้อมูลที่มี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุยิงในห้างสรรพสินค้า ข้อมูลต้นทางเป็นข้อมูลด้านความมั่นคง ข้อมูลความปลอดภัยที่เป็นเหตุฉุกเฉิน ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจ กทม. และ กสทช. อยู่ระหว่างการทำเรื่องระบบ cell broadcast ซึ่ง กทม. ได้ขอทราบแนวทางที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและเตรียมการทำงานให้เร็วขึ้น

ยังคงเป็นกระแสตื่นตัวที่ไม่ควรเงียบหาย เพราะเหตุการณ์ร้ายไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดจึงอยู่ที่การเตรียมรับมือ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมากมาช่วยทำให้ความปลอดภัยเป็นมาตรฐานและสะดวกขึ้น.

 

บรรยายใต้ภาพ

ทวิดา กมลเวชช

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

 

ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 ต.ค. 2566 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200