Let’s Read and Play กทม.ชนหมัด’มูลนิธิเอเชีย’ปักธงพัฒนาเด็กปฐมวัย

เพราะเยาวชนคืออนาคตของเมือง ของประเทศ และของโลกใบนี้

การสนับสนุนผลักดันการเรียนรู้ตั้งแต่ปฐมวัยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

ล่าสุด 22 กันยายนที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ชนหมัดแล้วประสานมือ มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย และบริษัท โนมูระ สิงคโปร์ จำกัด เปิดโครงการ Let’s Read and Play (ประเทศไทย) และเทศกาล รักการอ่านผ่านนิทานและการเล่น (Let’s Read and Play’s Reading Festival) เช็กโลเกชั่นนำร่องไปที่ ร.ร.ฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) กรุงเทพฯ หนุนการอ่านในเด็กปฐมวัยระดับโรงเรียนและระดับครัวเรือน กระตุ้นให้ พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเหลือดูแล ร่วมเสริมสร้างทักษะการอ่านเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก และผลักดันให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ยังมีเด็กปฐมวัยอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้อัตราการเกิดของเด็กน้อยลง ทุกคนควรร่วมมือกันดูแลเด็กๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลมีทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพในอนาคต

“กิจกรรมในเรื่องของการอ่าน การฟัง ไปสู่การเล่น ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญ โดยการออกแบบกิจกรรมให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู หรือพี่เลี้ยงที่ได้รับการอบรมจะเป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะก่อให้เกิดพัฒนาการในด้านต่างๆ ได้อย่างมหัศจรรย์ โดยสามารถเริ่มได้จากที่บ้านแล้วมาต่อเนื่องที่โรงเรียน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นและเกิดความเชื่อมโยงของระบบประสาทที่สำคัญ ทำให้มีพัฒนาการด้านต่างๆ โดยจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินติดตาม จัดเก็บรวบรวมข้อมูลพัฒนาการด้านการอ่านและการเรียนรู้อย่างครบถ้วน รวมไปถึงการประเมินด้านจินตนาการของเด็กด้วย” รองปลัด กทม.กล่าว พร้อมย้ำอีกครั้งว่า การอ่านเป็นทักษะสำคัญ ที่จะนำไปสู่พัฒนาการด้านต่างๆ ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และทำให้เด็กมีความสุข มีความสนุกในการอ่าน จนนำไปสู่การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ที่จะเป็นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต โดยอาจจะใช้สื่อโซเชียลต่างๆ หรือเทคโนโลยีมาช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน แต่ต้องมีการป้องกันสื่อ โซเชียลเหล่านี้อย่างถูกต้อง เพื่อทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ มีศักยภาพและความรู้ในการพัฒนาสังคมในอนาคต

ด้าน วรจรรย์ เนียมทรัพย์ ผู้จัดการโครงการ Let’s Read and Play มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย เผยว่า โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้เด็กสนใจในการเรียนรู้เรื่องราวรอบตัว ได้แง่คิดและความหลากหลายจากนิทานนานาชาติจากทุกมุมโลก มีพัฒนาการรู้หนังสือผ่านแนวคิดสมดุลทั้งภาษา ธรรมชาติและการอ่านออกเสียง เด็กจะได้พัฒนาทักษะทางภาษา การเข้าใจเรื่องราว การรู้จักพยัญชนะและการออกเสียง รู้จักคำศัพท์ใหม่ที่เชื่อมต่อไปกับความสามารถในการเริ่มต้นการอ่านและการเขียนตามวัย การส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์

“นับเป็นการเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ที่โรงเรียนและที่บ้านผ่านนิทานที่มีเรื่องราวสนุกสนาน ไปพร้อมกับที่จะได้มีช่วงเวลาคุณภาพภายในครอบครัว โดยมี รศ.ดร.อรพรรณ บุตรกตัญญู ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยและคณะนิสิตบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาปฐมวัยศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้คัดเลือกหนังสือนิทานภาษาไทยจากห้องสมุดนิทานดิจิทัล Let’s Read จำนวน 64 เรื่อง ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 ของประเทศไทย มาออกแบบเป็นหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ที่โรงเรียน 32 สัปดาห์ที่เชื่อมโยงกับหน่วยการเรียนรู้ที่ครูจัดกิจกรรมในชั้นเรียน เหมือนกับที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองได้ใช้เวลาในการอ่านนิทานและทำกิจกรรมกับลูกที่บ้าน มีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ให้ผู้ปกครอง 10 ครั้ง ทุกเดือนตลอดปีการศึกษา ภายใต้การดำเนินการของบุคลากรครูปฐมวัยผู้นำกิจกรรมการเรียนรู้ และผู้ช่วยจำนวน 16 คน ที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นให้สามารถจัดกิจกรรมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย

และยังได้รับความช่วยเหลือจาก ดร. วีรภัทร์ สุขศิริ และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผล ได้รวบรวมข้อมูลพัฒนาการของเด็กตั้งแต่ก่อนเริ่มต้น จนถึงสิ้นสุดโครงการเพื่อนำไปวิเคราะห์วิจัย จัดทำรายงานการประเมินผลด้านการอ่านและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เพื่อนำไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาขยายผลต่อไป”ผู้จัดการโครงการฯกล่าว

ถือเป็นโครงการดีๆ ที่ต้องขีด เส้นใต้หลายๆ เส้น เน้นย้ำความสำคัญเพื่ออนาคตของประชากรไทยและพลเมืองโลกในวันพรุ่งนี้

 

 

 

ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 25 ก.ย. 2566 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200