กทม. MOU กปน.เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย เฉพาะประเภท2-3/บ้านเรือนไม่เก็บ

กทม. MOU กปน. ข้อมูลใช้น้ำคิดค่าบำบัดน้ำเสีย เริ่มเก็บอย่างช้า ม.ค. 2567 เฉพาะพื้นที่บริการ 8 โรงฯ จ่อขยายที่คลองเตยใช้ PPP เอกชนร่วมทุน พร้อมสั่งทบทวนแผนขยายเขตชั้นนอก ไม่คุ้มทุน ปรับทำขนาดเล็ก

กรุงเทพมหานครมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการ สนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อการจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียระหว่าง กรุงเทพมหานครกับการประปานครหลวง ในวันที่ 25 กันยายน 2566 อยู่ในกระบวนการ เพื่อจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯ เฉพาะพื้นที่ให้บริการโรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเก็บได้ต้นปี 2567

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า ราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียว่า จะเริ่มเก็บปลายปีนี้ อย่างช้าเดือนมกราคม ปี 2567 จะเป็นการเก็บเฉพาะกลุ่มคน ที่อยู่ในเขตพื้นที่ให้บริการโรงบำบัดน้ำเสีย และไม่ได้เก็บประชาชนบ้านเรือนที่อยู่อาศัย จะเก็บเฉพาะกลุ่มประเภท 2 และ ประเภท 3 อาทิ โรงงาน โรงแรม สำนักงาน หน่วยงานต่างๆ เก็บ 4 และ 8 บาทต่อ ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยวิธีการเก็บ จะคิด 80% ของน้ำประปาที่ใช้ ซึ่งจะ MOU กับการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อใช้ข้อมูลการใช้น้ำในการจัดเก็บ กรณี สถานประกอบการมีระบบบำบัดน้ำเสียได้คุณภาพตามกฎหมายสามารถขอ ไม่เข้าระบบ ยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ การจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจะเป็นแรงจูงใจให้คนหันมาช่วยกันประกันประหยัดน้ำ นอกจากนี้ประโยชน์อีกอย่าง ในโครงการ ที่จะเกิดขึ้นใหม่จะได้ไม่ต้องลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียของตัวเองช่วยประหยัดเงินลงทุน ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัด กทม.นำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างทางเท้า และนำกลับไปเพิ่มคุณภาพน้ำในคลองให้ดีขึ้น และหารือการประปานครหลวงที่ปีหน้า จะมีภาวะน้ำแล้งในการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

นายวิศณุกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีโรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่ง และกำลังขยายเพิ่มมีอยู่ระหว่างดำเนินการ ที่คลองเตย โดยใช้วิธี PPP ต้องมีการศึกษาทฤษฎี กฎหมาย ความเป็นไปได้ ใกล้จะจบแล้ว จากนั้นจะนำเสนอเข้า สคร. เพื่อทำกระบวนการขออนุมัติ PPP จาก ครม.ต่อไป โดย PPP จะเปิดให้เอกชนมาลงทุนและเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย โดย กทม.จะเป็นผู้จ้างเอกชนบริหารจัดการ ส่วนแผนจะขยายเพิ่มต่อที่ไหนบ้างนั้น ตามแผนแม่บทที่ไจก้า ทำไว้ จะทำระบบบำบัดน้ำเสียรวม โดยใช้ท่อรวบรวมน้ำมาเข้าโรงบำบัดกลาง ใช้เงินลงทุนสูงมาก จึงต้องมาทบทวนความจำเป็นว่าต้องทำขนาดนั้นหรือไม่ เช่น ทำในพื้นที่ชั้นในคุ้ม แต่ถ้าทำพื้นที่ชั้นนอกที่ความหนาแน่นน้อยจะ ไม่คุ้มทุน จึงให้ทบทวนแผนโรงไหนจำเป็นให้เดินหน้าต่อ โรงที่อยู่พื้นที่ชั้นนอกอาจใช้วิธีทำโรงบำบัดขนาดเล็กที่อยู่ใกล้พื้นที่มากกว่าเพื่อประหยัดค่ารวบรวมน้ำเสีย รวมถึงให้ทบทวน 8 โรง ที่มีอยู่ว่าใช้เต็มประสิทธิภาพหรือยัง ซึ่งขณะนี้ยัง ต้องให้โรงที่มีอยู่นี้ใช้ ให้เต็มประสิทธิภาพก่อน เพื่ออาจ ต้องลดขนาดโรงที่จะทำใหม่ประหยัดเงินลงทุนได้

สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครปัจจุบัน มีระบบบำบัด น้ำเสียรวมขนาดใหญ่ มีโรงควบคุมคุณภาพน้ำ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ สี่พระยา ช่องนนทรี รัตนโกสินทร์ หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร และ ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ครอบคลุมพื้นที่รวม 191.60 ตร.กม. ใน 22 เขต ได้แก่ พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา ดินแดง ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน ดุสิต บางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง หนองแขม ภาษีเจริญ บางแค ทุ่งครุ ราษฏร์บูรณะ จอมทอง และ หลักสี่ สามารถบำบัดน้ำเสียได้รวมทั้งสิ้น 1,112,000 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งระบบขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดของกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 50% ใช้ งบประมาณในการจ้างเดินเครื่องบำบัดน้ำเสียประมาณ 500-600 ล้านบาท/ปี หาก กทม.จัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียได้ตามที่แจ้งในข้อบัญญัติฯ จะได้ราว 200 ล้านบาทยังไม่ได้ครอบคลุมต้นทุนในการบริหารจัดการ

 

 

ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 25 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200