จ้างวิ่งรถไฟฟ้าสีเขียว-แบกดอกเบี้ยเดือนละ90ล้าน
กทม.2 ดินแดง – เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่อาคารไอราวัตพัฒนา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีองค์คณะไต่สวน ชุดใหญ่ เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพวก รวม 13 คน กรณีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585
โดยนายชัชชาติกล่าวว่า เพิ่งทราบข่าว รู้เพียงแค่มีมติดังกล่าว จึงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด ทั้งนี้ เข้าใจว่ามีการตัดสิน มาเป็นของสัญญาที่ 1 ไม่ได้พูดถึงส่วนต่อขยาย 2 จากนี้คงต้องดูว่า มีความเกี่ยวข้องอย่างไร เพราะในส่วนของกระบวนการป.ป.ช.ยังไม่ยุติ เพราะเป็นการชี้มูล หลังจากนี้อาจมีการฟ้องร้องกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากรายชื่อที่เปิดเผยออกมายังมีใครที่รับราชการหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่พบ เพราะเรื่องนานแล้ว 10 กว่าปี
ส่วนการนำเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าหารือกับรัฐบาลชุดใหม่นั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ขอดูในกรอบภาพรวม เพราะยังมีเรื่องที่ต้องส่งคืน ให้กับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ถามกลับมา ซึ่งควรรอมติของคณะกรรมการวิสามัญฯ ที่จะตอบไปยัง มท.ด้วย และในส่วนเรื่องของมาตรา 44 ยังมีเรื่องที่ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตัดสินใจอยู่
ด้านนายนภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว กล่าวถึงความคืบหน้าผลการศึกษาเรื่องการแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่ง กทม.จะต้องชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติ สัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่งสมุทรปราการ จำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท
โดยนายนภาพลกล่าวว่า จากการศึกษาภาพรวมทั้งหมดของโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ กทม.เสียหายน้อยที่สุด พบว่า ปัจจุบัน กทม.มีหนี้ 3 ส่วน คือ 1.หนี้โครงสร้างหลัก ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ กทม.รับมาตามคำสั่ง คสช. ล่าสุดปีนี้เสียดอกเบี้ย 460 ล้านบาท 2.ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีดอกเบี้ยล่าสุดประมาณ 480 ล้านบาท แต่ส่วนนี้ กทม.ยังไม่ได้รับหนี้มา โดยสภากทม.ตัดงบชำระหนี้ ส่วนนี้ไป และ 3.ส่วนการจ้างเดินรถ (O&M) อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด เนื่องจาก กทม.ขออุทธรณ์
นายนภาพลกล่าวว่า จากการอุทธรณ์ดังกล่าว คณะกรรมการ วิสามัญฯ ได้กลับมาศึกษาประเด็นเพิ่มเติม โดยตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้ว่าฯ กทม.มอบหมายให้เคทีดำเนินการนั้น เคทีอาจดำเนินการเกินกว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.มอบหมายหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จะต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป
ส่วนค่าจ้างการติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ปัจจุบันครบสัญญาถึงกำหนดชำระแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท หาก กทม. ไม่ชำระหนี้ ต้องเสียดอกเบี้ยประมาณ 3 ล้านบาทต่อวัน หรือเดือนละ ประมาณ 90 ล้านบาท หลังจากครบสัญญา ปัจจุบัน กทม.ต้องเสีย ดอกเบี้ยส่วนนี้กว่า 3-4 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างคณะกรรมการ วิสามัญฯ สรุปแนวทางให้ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณา คาดว่าจะได้ข้อสรุป ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ และจะนำเข้ารายงานต่อสภากทม.รับทราบต่อไป
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 14 ก.ย. 2566