(24 พ.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดงานครบรอบ 51 ปี แห่งการสถาปนาโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “We provide better health to make Bangkok more livable : ร่วมสร้างสุขภาพที่ดี เพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่” ณ ห้องประชุมอุดมสังวรญาณ ชั้น 23 อาคาร 72 พรรษา มหาราชินี โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบของที่ระลึกให้กับผู้มีอุปการคุณและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการและบุคลากรดีเด่น ของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ รวมถึงมอบรางวัลประกวดคลิปวิดีโอสื่อความหมายของ “ค่านิยม” รพจ. HEALTH และ เข็มมุ่ง 3P Safety จากนั้นเปิดป้ายห้องตรวจโรค OPD New Normal (ห้องตรวจเวชปฏิบัติ) ณ อาคาร 2 ชั้น 1 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวแสดงความยินดีกับโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ในโอกาสครบรอบ 51 ปี และแสดงความยินดีกับบุคลากรของโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัล พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณบุคลากรที่ได้ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพราะต้องรับคนไข้จำนวนมาก ทั้งที่ทรัพยากรมีอย่างจำกัด โรงพยาบาลเป็นเหมือนยานแม่ที่คอยดูแลอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ในเครือข่าย ที่ให้บริการสู่ชุมชน ทำให้นอกระบบเข้มแข็งขึ้น หวังว่าโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จะเป็นที่พึ่งของประชาชนในกรุงเทพฯ อย่างเข้มแข็งต่อไป
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เป็นโรงพยาบาลคุณภาพระดับตติยภูมิขั้นสูงขนาด 464 เตียง ที่ให้บริการตรวจรักษาประชาชนมาเป็นระยะเวลา 51 ปี ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลแห่งนี้มีการพัฒนาขีดความสามารถจนมีระบบการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องอัตโนมัติทางห้องปฏิบัติการ (Total Lab Automation) ควบคู่ไปกับดิจิตอลโซลูชั่น (Digital Solution) ในระบบงานเทคนิคการแพทย์ มีศูนย์รับผู้ป่วยใน (Admission center) ศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการตรวจรักษาและผ่าตัดผ่านกล้องทางนารีเวช เป็นต้น อีกทั้งยังมีคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK Pride Clinic) มีการปรับปรุงอาคาร 2 เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการ ลดความแออัดของผู้รับบริการในคลินิกเวชปฏิบัติทั่วไป คลินิกประกันสังคม คลินิกเบิกจ่ายตรง ของกลุ่มงานประกันสุขภาพ และคลินิกปฐมภูมิ ของกลุ่มงานเวชศาสตร์ชุมชน โดยพัฒนาระบบการให้บริการภายในอาคาร ด้วยการใช้เทคโนโลยีร่วมในการให้บริการ อาทิ smart OPD, telemedicine และ e-refer เป็นต้น
ส่วนในอนาคตได้วางแผนเพิ่มศูนย์ความเป็นเลิศอีก 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก และศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร ในการก่อสร้างและปรับปรุงสถานที่ต่างๆ ในโครงการศูนย์ห้องผ่าตัดหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก และโครงการศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและปอดเพื่อรองรับการดูแลและรักษาผู้ป่วยอย่างครบวงจรด้วย
—————————– (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)