(22 พ.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในงานแถลงข่าวและพิธีเปิดตัวแอปพลิเคชัน BuddyThai ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA GROUP เพื่อมุ่งช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนบูลลี่ ตั้งเป้าลดสถิติเยาวชนคิดฆ่าตัวตาย และเพิ่มทักษะปกป้องตนเองของเด็กและเยาวชน โดยมี นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต ร่วมแถลงข่าว ณ ห้อง Camellia Ballroom ชั้น 1 โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย เขตปทุมวัน
กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนและวัยรุ่นราชนครินทร์ ร่วมมือกับ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA GROUP พัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า BuddyThai ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนรังแกหรือโดนบูลลี่ที่โรงเรียนและโดนบูลลี่ผ่านโซเชียลมีเดีย และเพื่อบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสังคมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร ในการนำร่องให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครดาวน์โหลดใช้งาน พร้อมแชร์ประสบการณ์ให้ทีมพัฒนาแอปพลิเคชันนำไปวางแผนปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป รวมทั้งจัดทำแบบสอบถามกับนักเรียน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนา Buddy Thai App ในเฟสต่อไป ให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะได้รับความสนใจและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศ และ BuddyThai จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาการบูลลี่และการกลั่นแกล้งกันในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีความสุข ในการใช้ชีวิตและเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป “เด็กและเยาวชนที่โดนบูลลี่ ให้หันมาหาบัดดี้ (BuddyThai)”
การบูลลี่เกิดขึ้นในสังคมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในยุคไซเบอร์ที่ทุกคนมีอิสระในการเสพสื่อและแสดงความคิดเห็น และอาจไม่คิดว่าพฤติกรรมของเราสร้างผลกระทบทางจิตใจและทางกายแก่บุคคลอื่นอย่างไร จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็ก ๆ ในยุคนี้ประสบปัญหาการบูลลี่เพิ่มขึ้น มากเกินกว่าการเล่นแกล้งตามประสาเด็กทั่วไป ทั้งการล้อเลียน เหน็บแนม ปฏิเสธการเข้ากลุ่มข่มขู่ หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกาย เรื่องดังกล่าวส่งผลต่อการเรียนและความรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียน และหลายกรณีพบว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตทางลบไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับการบูลลี่เป็น 2 ในโลก ในปี 2563 รองจากประเทศญี่ปุ่น จากข้อมูลการบูลลี่ด้วยการใช้ตัวอักษรผ่านโซเชียลมีเดีย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องสุขภาพจิตเด็กเป็นเรื่องสำคัญ กรุงเทพมหานครมีโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง ดูแลเด็กนักเรียนกว่า 270,000 คน โดยเรารู้กับตัวเองเลยว่า แค่ไปหาหมอด้านจิตเวชเด็กคิวยาวมาก เพราะแต่ละเคสใช้เวลายาวนานและต่อเนื่อง จะให้ครูโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครให้คำปรึกษาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ การมีแอปพลิเคชันนี้จึงเป็นเรื่องที่ดี นอกเหนือจากเรื่องการถูกบูลลี่แล้ว ยังมีเรื่องการตรวจสอบอารมณ์ตนเอง ตรงกับหนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านชื่อ Designing Your Life ซึ่งบอกว่าการจะออกแบบชีวิตตัวเองนั้น ให้จดบันทึกว่าชีวิตเราในแต่ละวันมีอารมณ์และความรู้สึกอย่างไรบ้าง อะไรเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกนี้ เช่น ออกไปวิ่งตอนเช้าแล้วรู้สึกสดชื่น แสดงว่าเราชอบกิจกรรมนี้ เรารู้สึกแย่เมื่อเกิดอะไรขึ้น เราจะรู้จักตัวเองมากขึ้น จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดตัวกระตุ้นในจุดนี้ ทำให้เรามีจิตใจที่แย่ ถ้าเกิดเรารู้จักตัวเอง การรับมือกับสภาพอารมณ์จิตใจมันจะดีขึ้น
“เด็กจะคุ้นเคยกับมือถือแอปพลิเคชันมากมาย แต่ถ้าเกิดเรามีแอปพลิเคชันที่สามารถจะให้เขาไว้ใจได้หัวใจของแอปพลิเคชันนี้ในระยะยาวคือ ต้องสร้างความไว้ใจระหว่างเด็กกับการใช้งานว่า อนาคตเรื่องความเรื่องปลอดภัยของข้อมูล ในการเก็บรักษาความลับของข้อมูลการให้คำปรึกษา จะต้องมีการพัฒนาและก็ต้องมอนิเตอร์อย่างต่อเนื่อง กรุงเทพมหานครมีหน่วยบริการที่อยู่ในเส้นเลือดฝอย เช่น มีศูนย์บริการสาธารณสุข มีอาสาสมัครสาธารณสุขอยู่ในชุมชน มีประธานชุมชน กรรมการชุมชนต่าง ๆ ถ้าเรารู้ปัญหาอาจจะให้เด็กไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือแม้กระทั่งอาจจะมีหน่วยปรึกษาอยู่ในโรงเรียนก็ได้ในอนาคต ดังนั้น วันนี้ก็จะเป็นการเชื่อมโยงที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยแอปพลิเคชันจะต้องมีการพัฒนาต่อยอด ค่อย ๆ เก็บข้อมูลค่อย ๆ พัฒนาให้มันสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ต้องขอขอบคุณนะครับ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ด้านนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการบูลลี่กันในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกมองข้ามและยังไม่มีใครลุกขึ้นมารณรงค์แก้ไขกันอย่างจริงจัง การบูลลี่ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องร่างกายที่บาดเจ็บแต่เป็นปัญหาทางด้านจิตใจจนฝังรากลึกมากกว่า หลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์การกลั่นแกล้งต่าง ๆ ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้น มีข่าวเด็กและเยาวชนเครียด เป็นโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย ให้ได้ยินบ่อยมาก ทั้งที่ความจริงเด็กและเยาวชนยุคใหม่เก่งและมีความสามารถสูง คำถาม คือ ทำอย่างไรถึงจะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนรังแก หรือถูกบูลลี่ ให้พวกเขามีจิตใจที่เข้มแข็งและมีทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข เราต้องการให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้มีที่ปรึกษาที่อุ่นใจอยู่ข้างกายตลอดเวลา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาที่ไว้ใจได้ ช่วยได้จริง ทาง TTA Group จึงได้ร่วมกับทางกรมสุขภาพจิตในการพัฒนาแอปพลิเคชัน BuddyThai ขึ้นมาเพื่อมุ่งช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไทยที่โดนบูลลี่โดยเฉพาะ แอปพลิเคชัน BuddyThai นี้ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้กับเด็กและเยาวชนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และนักจิตวิทยาใช้ติดตามช่วยเหลือกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา จนกระทบต่อสุขภาพจิตขั้นรุนแรงได้ทันท่วงทีอีกด้วย
นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การบูลลี่คือการกลั่นแกล้งรังแกทั้งคำพูดหรือพฤติกรรม ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความเจ็บปวดต่อร่างกาย เกิดผลกระทบทางจิตใจรู้สึกกลัว ทุกข์ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น การเฝ้าระวังและสอดส่องติดตามปัญหาดังกล่าวจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญต่อภารกิจในการลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนและผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีหลายครั้งที่นักเรียนไม่กล้าแม้แต่จะพูดคุยหรือปรึกษาเพื่อน ครู หรือผู้ปกครอง เนื่องจากโดนจับตามองอยู่ตลอดเวลาจากเพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนที่บูลลี่ผู้อื่น ทำให้หลายครั้งการแก้ปัญหาทำได้ล่าช้า เยาวชนบางคนเครียด เป็นโรคซึมเศร้า ไม่มีที่พึ่ง การมีแอปพลิเคชัน BuddyThai ที่สามารถใช้เป็นช่องทางการขอความช่วยเหลือและบันทึกสถานะอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กที่ต้องการเชิงรุกและนำไปสู่การลดปัญหาการบูลลี่และผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตได้
สำหรับแอปพลิเคชัน BuddyThai มีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ 3 ประการ คือ
1. มีปุ่มขอคำปรึกษากับนักจิตวิทยาได้โดยตรง เพื่อให้ เด็กและเยาวชน สามารถกดปุ่มนี้เพื่อติดต่อถึงสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต หรือเลือกแชทกับนักจิตวิทยาผ่าน Facebook ของกรมสุขภาพจิต ผ่านนักจิตวิทยาและอาสา LoveCare Station ของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และผ่าน Facebook ของ BuddyThai App ก็ได้เช่นกัน
2. มีแบบประเมินตนเอง ด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) รวมถึงมีชุดความรู้และแบบฝึกหัดทักษะการใช้ชีวิต ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ว่าจะต้องรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโดนบูลลี่ พร้อมมีคำแนะนำดี ๆ จากนักจิตวิทยาที่เชื่อถือได้
3. มีระบบบันทึกข้อมูลอารมณ์ในแต่ละวัน เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาบันทึกอารมณ์ของตัวเองได้ทุกวันและวันละหลาย ๆ ครั้ง และใส่เหตุผลได้ด้วย ข้อมูลอารมณ์จะบันทึกเป็นสถิติรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้เด็กและเยาวชนเช็คได้ว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตนเองมีอารมณ์หนักไปทางด้านใด เพราะอะไร โดยมีเทคนิคการจัดการอารมณ์ให้เด็กอ่านด้วยตนเอง ในขณะที่ หากพบว่าเด็กและเยาวชนคนไหนบันทึกว่า มีอารมณ์เครียด ซึมเศร้าติดต่อกันเป็นอาทิตย์และมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย ทีมแอดมินจะมอนิเตอร์เด็กและเยาวชนคนนี้อย่างใกล้ชิด และสามารถแจ้งไปยังโรงเรียนและคุณครู หรือนักจิตวิทยาสายด่วนในการติดต่อเชิงรุกได้
ผู้ร่วมแถลงข่าววันนี้มี พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ผู้บริหารสำนักการศึกษา ศิลปินและดารา อาทิ กรกันต์ สุทธิโกเศศ พิจิกา จิตตะปุตตะ รวมถึงศิลปินจากสังกัด CCG ARTISTS วาสุ จงจารุกวิน พัทฑริยา พยอม ธนาพงศ์ ปรีชาพงค์มิตร ปัณณวิชญ์ ศรีพงศ์อัครา กิตติรัช กาญจนบวร พงษ์พันธุ์ ชอบชน และนักแสดงจากซีรี่ย์เรื่องฟ้าลั่นรัก
——————-