ผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” ยังห่วงฝนช่วงนี้ สั่ง ทุกหน่วยออกดูแลปชช.จุดน้ำท่วม/พร่องน้ำคลองออกเจ้าพระยา พร้อม ติดไฟแจ้งเตือนจุดเสี่ยงน้ำท่วม กวดขัน พื้นที่ก่อสร้าง หวั่นเหตุรถตกคูซ้ำ
วันที่ 24 ก.ค. 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ยังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องด้วยยังมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านเหนือ กรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกในกรุงเทพฯ เป็นฝนอ้อยอิ่ง ตกแช่ในพื้นที่นาน ลักษณะ เหมือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้บางจุด ปริมาณฝนมากถึง 139 มม. ซึ่งถือว่าสูงมาก และวานนี้ที่เขตลาดกระบัง ฝนตกสูงถึง 100 มม. แต่การบริหารจัดการภาพรวมถือว่าเราทำได้ดี น้ำลงค่อนข้างเร็ว ถนนเมนหลักน้ำแห้งหมดแล้ว มีบ้างบางจุดที่ชุมชนย่อยและ ในซอยย่อย ที่ได้รับแจ้งเช่น ลาดพร้าว 24/4 พัฒนาการ 54 ก็ต้องเร่งนำหน่วย ไปซับน้ำออก ก็คงต้องระวังฝนต่อไป ต้องเร่งพร่องน้ำในคลอง
ที่ห่วงคือฝั่งตะวันออก คลองประเวศฯและคลองเชื่อมต่างๆ ระดับน้ำ ยังสูง ได้ให้เร่งระบายออกไปแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขณะนี้ระดับน้ำยังไม่สูงมาก น่าจะระบายน้ำออกไปได้ สำหรับปัญหา ขยะที่เห็นยังมีขยะติดตะแกรง จากที่ไป ตรวจสอบหน้างานพบปัญหาหนึ่งคือ ขยะที่ประชาชนนำไปวางรอรถขยะมาจัดเก็บ เกิดฝนตกลงมาก่อนเวลาที่ รถขยะเข้าไปจัดเก็บ จึงโดนฝนชะไป ซึ่งเป็นเรื่องของเวลาที่ยังจัดเก็บไม่หมด ก็ต้องช่วยกันให้เก็บขยะไว้ในบ้านก่อนแล้วนำออกมาวางใกล้ๆ เวลารถมาเก็บ ขณะเดียวกันมีโครงการคอกเขียว ที่ กทม. ทำอยู่ เป็นคอกรวบรวมขยะก่อนที่รถจะมาจัดเก็บ ถ้าเพิ่มให้มากขึ้นก็จะช่วยลดปัญหาขยะอุดตันได้ อีกส่วนคือถังขยะไม่พอ จะเพิ่มจำนวนถังขยะตามพื้นที่ต่างๆ อีก 10,000 ใบ ก็ขอความร่วมมือช่วยกันดูแล
“การบริหารจัดการน้ำเราไม่ค่อย กังวล ทุกคนทำเต็มที่ แต่มีมิติที่ต้อง ปรับปรุงคือการดูแลประชาชน ได้สั่งการ หน่วยงานเกี่ยวข้องไม่เฉพาะสำนักการระบายน้ำ ให้ออกมาดูแลประชาชนในเวลาฝนตกด้วย เช่น กองโรงงานช่างกล ที่มีหน่วยซ่อมรถ ต้องออกมาประจำจุดช่วยดูแลซ่อมรถประชาชน ที่เสีย รวมทั้งเทศกิจ ต้องจัดรถบริการรับ-ส่งประชาชน ให้สามารถกลับบ้านได้ ถือเป็นข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติ ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในช่วงที่เกิด น้ำท่วม” นายชัชชาติ กล่าว
ส่วนกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ตกคูน้ำ ริมถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณซอยวิภาวดี 23 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา นายชัชชาติกล่าวชี้แจงว่า ถนนในกรุงเทพมหานคร หลายเส้นอยู่ ภายใต้ของกรมทางหลวง เช่น แจ้งวัฒนะ รามอินทรา สุวินทวงศ์ วิภาวดีรังสิตพระราม 2 อย่างกรณีถนนวิภาวดีรังสิต กรมทางหลวงก็มีโครงการทำคูน้ำซึ่งเป็น โครงการที่ดีช่วยการระบายน้ำได้ดีขึ้น และปรับภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น ในช่วงการก่อสร้างอาจจะนึกไม่ถึงว่า จะมีน้ำท่วม หมด และทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า จุดไหนเป็นคูน้ำ จุดไหนเป็นถนน จากที่ลงไปดูเป็นซอยวิภาวดี 28 ซึ่งจุด ที่เลี้ยวเข้าไปในซอย เมื่อน้ำท่วมเสมอกันก็เลยสับสนหาแบริเออร์ที่กั้นบอกแนวไม่เจอ ดังนั้น จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบทุกจุด ที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยจะต้องวางแบริเออร์บอกแนวระหว่างถนนกับคูน้ำทุกจุดให้ชัดเจน โดยเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูง เช่น ตั้งแต่เซ็นทรัลลาดพร้าวถึงดินแดง ทั้งสองฝั่ง รวมถึงสั่งการให้ติดไฟแจ้งเตือนผู้ใช้ถนนด้วย ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะโครงการของกรมทางหลวง แต่ให้ทำในทุกโครงการของกทม.ด้วย
อย่างไรก็ตาม การกองวัสดุมีส่วนทำให้เกิดปัญหา เพราะตอนน้ำ ไม่ท่วมยังพอมีทางให้น้ำระบายได้ แต่การกองวัสดุริมทางจำนวนมาก เมื่อ น้ำท่วมอาจชะเอาวัสดุลงไปในท่อได้ กทม.มีนโยบายไม่ให้กองวัสดุในพื้นที่ สาธารณะ ต้องมีพื้นที่จัดเก็บต่างหาก เพื่อป้องกันชิ้นส่วนวัสดุที่ใช้ก่อสร้างไหลลงไปอุดช่องทางระบายน้ำ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมจนแยกไม่ออกว่าตรงไหนคือคู ตรงไหนคือถนน เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุรถตกคูเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 25 ก.ค. 2566