(24 ก.ค.66) เวลา 13.30 น. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะสำนักงานเขต ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการเขต และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ประธานที่ปรึกษาฯ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.ด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง สวน 15 นาทีทั่วกรุง สนับสนุนการแปลงที่ของประชาชนและเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื้นที่สาธารณะ 2.ด้านการบริหารจัดการขยะ สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร โครงการไม่เทรวม สภาพแวดล้อมเมืองดี จุดทิ้งขยะถูกสุขอนามัย ไม่มีขยะตกค้าง มุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า รถขยะไซต์เล็ก เข้าใจเมือง เข้าถึงบ้าน ส่งขยะคืนสู่ระบบ
ในที่ประชุมได้รายงานการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง จำนวนต้นไม้ที่ปลูกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 ถึงวันที่ 22 ก.ค.66 ต้นไม้ทั้งหมด 518,176 ต้น แบ่งเป็นไม้ยืนต้น 143,376 ต้น ไม้พุ่ม 275,396 ต้น ไม้เลื้อย/เถา 99,404 ต้น สำหรับการแบ่งกลุ่มเขตยุทธศาสตร์การปลูกต้นไม้ แบ่งตามพื้นที่เขตออกเป็น 4 กลุ่ม ตามขนาดและลักษณะกายภาพของพื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะน้อย การปลูกไม้ยืนต้น 75% ไม้พุ่ม 20% ไม้เลื้อย/เถา 5% เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 18 เขต ประกอบด้วย เขตสวนหลวง ดอนเมือง บางเขน สายไหม คลองสามวา สะพานสูง คันนายาว บางกะปิ หนองจอก ตลิ่งชัน จอมทอง ทุ่งครุ บางบอน บางแค บางขุนเทียน หนองแขม มีนบุรี ลาดกระบัง 2.พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะมาก การปลูกไม้ยืนต้น 75% ไม้พุ่ม 20% ไม้เลื้อย/เถา 5% เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 4 เขต ประกอบด้วย เขตจตุจักร บึงกุ่ม ประเวศ ทวีวัฒนา 3.พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะน้อย การปลูกไม้ยืนต้น 40% ไม้พุ่ม 50% ไม้เลื้อย/เถา 10% เพื่อดักจับฝุ่นและดูดซับมลพิษ สร้างร่มเงาให้แก่เมือง จำนวน 21 เขต ประกอบด้วย เขตสัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย พญาไท ห้วยขวาง ราชเทวี วังทองหลาง พระโขนง บางรัก ยานนาวา สาทร บางคอแหลม วัฒนา บางนา บางซื่อ ลาดพร้าว หลักสี่ ธนบุรี บางกอกใหญ่ บางพลัด ภาษีเจริญ ราษฎร์บูรณะ และ 4.พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะมาก การปลูกไม้ยืนต้น 30% ไม้พุ่ม 70% เพื่อดักจับฝุ่นและดูดซับมลพิษ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 7 เขต ประกอบด้วย เขตพระนคร ดุสิต ดินแดง ปทุมวัน คลองเตย คลองสาน บางกอกน้อย ซึ่งผลงานตามกลุ่มยุทธศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 ถึงวันที่ 31 พ.ค.66 เป้าหมายปีที่ 1 ปลูกต้นไม้ 119,000 ต้น ปลูกได้จริง 320,312 ต้น (เกินกว่าเป้าหมาย 201,312 ต้น)
โครงการพัฒนาเขตนำร่องการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร (BKK zero waste) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะ นโยบายส่งเสริมการลดและแยกขยะที่ต้นทาง ได้แก่ นโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร นโยบายมุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า และนโยบายส่งขยะคืนสู่ระบบ ผลการดำเนินการหลังเปิดตัวโครงการ “ไม่เทรวม” เมื่อวันที่ 4 ก.ย.65 และโครงการ BKK zero waste ต่อยอดโครงการ “ไม่เทรวม” เมื่อวันที่ 3 มี.ค.66 ส่งผลให้ปริมาณขยะเริ่มลดลงนับตั้งแต่เดือนก.พ.66 เป็นต้นมา โดยเดือนก.พ.66 ขยะลดลง 199 ตันต่อวัน หลังจากนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยในเดือนมิ.ย.66 ลดลง 719 ตันต่อวัน ทำให้ปริมาณขยะปีงบประมาณ 2566 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 เฉลี่ย 298 ตันต่อวัน ในการลดปริมาณขยะในเบื้องต้น เริ่มที่กลุ่มเป้าหมายที่มีผู้นำองค์กร ซึ่งมีศักยภาพในการจัดระบบการจัดการขยะด้วยการแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิผล สร้างการรับรู้แนวทางการแยกขยะ เช่น การจัดให้มีที่พักขยะแยกประเภท การแยกประเภทขยะก่อนทิ้งตามกฎกระทรวงฯ กำหนด รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้องค์กร แยกขยะใช้ประโยชน์ที่ต้นทางก่อนทิ้ง ทั้งขยะรีไซเคิล และขยะเศษอาหาร กิ่งไม้ใบไม้ ซึ่งเมื่อปริมาณขยะลดลงจะสามารถลดค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายด้วย
สำหรับการพัฒนาระบบทิ้งขยะด้วยกรงตาข่ายครอบถุงขยะ ผลการดำเนินการเริ่มต้นจากการทดลองและพัฒนากรงตาข่าย เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมในพื้นที่เขตวัฒนา จำนวน 10 จุด ตั้งแต่เดือนก.ย.65 หลังจากนั้นในเดือนมี.ค.-มิ.ย.66 ได้ขยายพื้นที่ทดลองไปยังถนนสายต่างๆ ในพื้นที่ 16 เขต 16 ถนน ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนเจริญกรุง ถนนรัชดาภิเษก ถนนจันทน์ ถนนพระราม 1-เพลินจิต ถนนลาดพร้าว ถนนสีลม ถนนดินสอ ถนนรามคำแหง ถนนหับเผย ถนนราชปรารภ ถนนเฟื่องนคร ถนนพญาไท ถนนสิบสามห้าง ถนนพหลโยธิน และถนนราชดำเนินกลาง ติดตั้ง 137 จุด ใช้กรงตาข่าย 197 กรง โดยกรงส่วนหนึ่งเริ่มชำรุด เช่น รอยต่อฉีกขาด มีรูหนูกัด ขณะนี้สำนักสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบใหม่ให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยให้สำนักงานเขตสำรวจจุดทิ้งขยะที่มีการกองถุงขยะในพื้นที่ พร้อมปริมาณกรงที่ต้องใช้ในแต่ละจุด เพื่อนำเข้าแผนที่ส่งให้สำนักสิ่งแวดล้อมนำเข้าแผนที่กลางและรวบรวมจำนวนความต้องการใช้กรงตาข่าย เพื่อจัดหาส่งมอบให้สำนักงานเขตต่อไป
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)