(24 ก.ค.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างมีความหมาย (Meaningful access to public healthcare services) ของผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเขตกรุงเทพมหานคร และเขตเมือง โดยมี ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักงานการต่างประเทศ กทม. มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNHCR) และภาคีเครือข่ายที่ร่วมดูแลผู้ลี้ภัย ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
“เรื่องผู้ลี้ภัยถือเป็นเรื่องใหม่ของหน่วยงานกทม. แต่ถือว่ามีความสำคัญ และต้องมาดูว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งจากข้อมูล UNHCR พบว่าในกทม.มีจำนวนประชากรกลุ่มนี้มากกว่า 5,000 คน ตอนช่วงสถานการณ์โควิด-19 กทม. ก็ได้ให้การดูแลทุกคน รวมถึงประชากรในกลุ่มนี้ด้วย เนื่องจากสถานการณ์ตอนนั้นทุกคนถือว่ามีความเสี่ยง โดยปกติกทม. ได้ให้บริการทางการแพทย์และการศึกษาแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่แล้ว แต่เดิมอาจจะยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงแนวทางจากทางรัฐบาล เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้รายงานว่า เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเขตเมืองอยู่ประมาณ 5,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประชากรกลุ่มนี้ไม่ได้รับสถานะทางกฎหมายที่ให้เข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขได้ การประชุมครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อแสวงหาแนวทางให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเขตเมืองสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานะเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และภาษา
ทั้งนี้หน่วยงานกรุงเทพมหานครได้รายงานภาพรวมการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักอนามัยมีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) อยู่ทุกพื้นที่เขต เพื่อให้บริการวัคซีน การส่งเสริมสุขภาพในศูนย์บริการสาธารณสุข โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งการรักษาก็มีหลายส่วนช่วยสนับสนุน สำนักการแพทย์รายงานว่าสถานการณ์ผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลสังกัดกทม.ไม่ค่อยพบปัญหาเนื่องจากค่าใช้จ่ายมีราคาไม่สูงมาก แต่ผู้ป่วยในส่วนใหญ่จะมีอาการหนัก ทำให้ญาติเกรงเรื่องค่าใช้จ่าย และญาติจะไม่แสดงตน ปัจจุบันได้มีการช่วยเหลือแล้วแต่กรณีโดยมูลนิธิของโรงพยาบาลแต่ละแห่งอยู่แล้ว หากในอนาคตมีกองทุนดูแลจะทำให้การทำงานคล่องขึ้น สำนักงานปกครองและทะเบียน มีภารกิจที่เกี่ยวข้องคือการจัดทำเอกสารให้เด็กเป็นไปตามสถานะของบิดา มารดาเด็ก หากหลบหนีเข้าเมืองบัตรประชาชนจะขึ้นด้วยเลขศูนย์ แต่หากเข้ามาตามกฎหมาย เลขบัตรประชาชนจะขึ้นต้นด้วยเลขเจ็ด สำหรับเด็กที่มีเลขบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยอักษร G หมายถึงเด็กที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยที่เข้าเรียนในโรงเรียนไทย แม้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้แต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขได้เพราะรหัสประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วย G เป็นรหัสประจำตัวที่ใช้ในการศึกษา ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าถึงสิทธิในการรักษา และการเข้าถึงโครงการส่งเสริมสุขภาพของสปสช. ซึ่งไม่ได้เลือกว่าเป็นใคร ที่ผ่านมากทม.ทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นระบบเดียวกัน เราต้องหาก่อนว่า 5,000 คนนี้อยู่ที่ไหน เพราะการนำเข้าระบบสาธารณสุขไม่ใช่เรื่องยาก ขณะนี้กทม.ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน และต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใดบ้าง ที่ผ่านเป็นการดูแลตามดุลยพินิจและสิทธิมนุษยชน วิธีการที่ถูกต้องคือกทม.ต้องกำหนดเป็นขั้นตอน โดยสำนักงานปกครองฯ ต้องมีข้อมูลพื้นฐานให้ รวมถึงกำหนดระเบียบปฏิบัติเพื่อให้โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุขทำงานต่อได้ ในส่วนของการตั้งกองทุนสุขภาพเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ จะทำให้การดูแลผู้ป่วย short stay เป็นไปได้ดีขึ้น เบื่องต้นอาจกำหนดผู้ประสานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งกทม.รับเป็นเจ้าภาพในหารือแต่ละหน่วยงาน และการตั้งทีมเพื่อประสานข้อมูลรายละเอียดความหนาแน่นประชากรรายเขตจะเป็นประโยชน์กับการเดินหน้าต่อในเรื่องกฎหมายและเรื่องอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งการทำในรูปแบบSandbox นำร่องในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจะทำให้เรามีฐานข้อมูลและมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนขึ้น
———-