ทรงผมเครื่องแต่งกายนักเรียนเสรี เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในสังคมไทย ตั้งแต่การเรียกร้องของ แฟรงค์ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จนมาถึงกรณีของน้องหยก เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ได้แหกกฎของโรงเรียนด้วยการย้อมผมสีชมพู แต่งกายชุดไปรเวต จนต้องปีนรั้วเพื่อเข้าไปนั่งเรียนให้ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกหนังสือเวียนเป็นบันทึกข้อความถึงผู้อำนวยการเขต ระบุว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ส่งผมของนักเรียน พ.ศ.2563 พ.ศ.2566 ประกาศ ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 นั้น เพื่อเป็นการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน จึงให้โรงเรียนจัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนไว้ทรงผมได้อย่างอิสระบนพื้นฐานสุขอนามัยที่ดี สะอาด ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ จากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้
ในกรณีมีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ให้โรงเรียนรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจและตกลงร่วมกัน
ห้ามไม่ให้ดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน เช่น การตัดผมทำให้อับอาย
ส่วนแนวทางการแต่งกายของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ระบุว่า ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ฯลฯ ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง
จึงให้โรงเรียนสังกัด กทม.จัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์
ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนด แล้วนำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนประกาศใช้
กรณีที่มีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของนักเรียนผู้นั้นที่จะสวมชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดอื่นใดที่โรงเรียนกำหนดให้มีไว้อยู่แล้ว
และห้ามไม่ให้ดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวเป็นการใช้ครั้งแรก ต้องมีการประเมินว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร กทม.พร้อมจะปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ลองทำอะไรใหม่เลย สุดท้ายก็ไม่มีการคิด เด็กไม่ได้คิด ผู้ปกครองไม่มีส่วนร่วม กทม.ต้องกล้าทำในสิ่งที่ผิดไปจากเดิมมาก แต่ก็มีกรอบกติกาอยู่ สุดท้ายถ้าดีก็ทำต่อ ถ้ามีเรื่องปรับปรุงก็สามารถปรับปรุงได้ กทม.ยินดีรับคำติชมทุกอย่าง
ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. เผยว่า หนังสือเวียนทั้ง 2 ฉบับกว่าจะออกมาใช้ระยะเวลานานเนื่องจากมีคณะกรรมการหลายภาคส่วน โดยก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯกทม.เซ็นประกาศเรื่องสิทธิเด็กและชุดลูกเสือ ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยหัวใจหลักมี 3 เรื่อง คือ 1.สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ทำให้เด็กไปโรงเรียนอย่างมั่นใจ ถูกสุขอนามัย โดยแต่ละโรงเรียนสามารถออกกฎระเบียบร่วมกับนักเรียน
2.เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดย กทม.ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในการจัดซื้อเครื่องแบบให้นักเรียนปีละ 2 ชุด คือชุดนักเรียน 1 ชุด ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ชุดพละ สลับกันปีละ 1 ชุด กทม.จึงออกแนวทางกลางๆ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ นักเรียนสามารถใส่ชุดอะไรก็ได้ที่สบายใจ อย่างชุดไปรเวต หรือชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ ชุดพละ
และ 3.การมีส่วนร่วมของนักเรียนในการออกกฎระเบียบร่วมกับโรงเรียน ในการกำหนดทรงผมและเครื่องแต่งกาย
“แนวทางปฏิบัติดังกล่าวทางคณะกรรมการของสถานศึกษา ต้องให้นักเรียนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีข้อกำหนดไม่เหมือนกันก็ได้ เพราะบางโรงเรียนก็มีการสอนศาสนาด้วย ส่วนเรื่องการย้อมสีผมแล้วแต่ทางคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา” ศานนท์กล่าว
พร้อมย้ำว่าสิ่งที่ทำ ไม่ได้เกินสิ่งที่กฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยคณะกรรมการสถานศึกษาสามารถพิจารณาได้กันเอง กทม.เลยออกบันทึกข้อความเพื่อให้มีความชัดเจน เพราะแต่ละโรงเรียนอาจจะพิจารณาไม่เหมือนกัน
“การเปลี่ยนแปลงแบบตัดฉึบเป็นสิ่งที่ยาก จะเห็นได้ว่าในประกาศเราใช้คำว่าอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมเดิมมาก เราเอากระบวนการมีส่วนร่วมของนักเรียน เอาเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเข้าไปด้วย การจะขยายมากกว่า 1 วันขึ้นอยู่กับโรงเรียน เราไม่ได้ต้องการทำให้พลิกแผ่นดินทันที แต่เราต้องการค่อยๆ เขยิบไป” รองผู้ว่าฯกล่าว
ไม่รีรอที่จะขยายความ ว่าเหตุใด จู่ๆ กทม.ก็ดำเนินการเรื่องนี้
“ทำไมต้องประกาศเรื่องนี้ด้วย อยู่เฉยๆ ก็ไม่โดนด่า ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญของนักเรียน ตั้งแต่ออกหนังสือเวียนนี้ไป ผมทำเรื่องการศึกษามา 20 โปรเจ็กต์ โปรเจ็กต์นี้เป็นโปรเจ็กต์ที่มีเด็กพิมพ์มาขอบคุณมากเยอะที่สุด เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของยุคสมัย เป็นเรื่องที่ถ้าเราไม่คุยบนโต๊ะ ถ้าไม่เป็นบทเรียนของการเรียนรู้ ก็คงไม่สามารถเดินต่อได้” ศานนท์ยืนยัน
ด้าน สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเห็นด้วยกับแนวทางของ กทม.ว่า การที่ กทม.ออกแนวทางนี้มา แสดงให้เห็นว่า กทม.เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้ดีกว่า กระทรวงศึกษาธิการ 100 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กทม.เข้าใจเรื่องการศึกษาที่จะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว และให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่
“กทม.น่ายกย่องที่เป็นผู้เปิด เป็นหัวหอกสำคัญของการทลายกำแพงระบบกฎเกณฑ์อำนาจนิยมในโรงเรียน กล้าคิดนอกกรอบทำสิ่งใหม่ๆ คิดว่าสิ่งนี้เป็นพลังสำคัญที่จะทำให้เกิดการแผ่ขยายไปยังภาคส่วนอื่นๆ ด้วย” อาจารย์ครุฯ แห่งรั้วจุฬาฯ คิดเห็นเช่นนี้
สมพงษ์ยังกล่าวชื่นชมด้วยว่า ผู้ว่าฯและรองผู้ว่าฯกทม. ที่กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าตัดสินใจ และไม่กลัวกระแสการต่อต้าน นักการเมืองที่ทำงานต้องกล้าเดินหน้าแบบนี้ อีกทั้ง ส่วนใหญ่แล้วนักเรียนในสังกัด กทม.เป็นเด็กที่ยากจน เมื่อมีนโยบายให้อิสระ เสรีภาพ ส่งเสริมให้เด็กเคารพตนเอง คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการให้โอกาสเด็กยากจนและเปราะบาง ที่ทำให้เด็กเหล่านี้มีความสุข ตั้งใจที่จะมาเรียนหนังสือมากขึ้น ดังนั้น การคลายระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านี้ ทำให้โรงเรียนก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็กยากจนจำนวนมาก แต่กลับมีจิตวิญญาณของสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน สนใจชีวิตและคุณภาพเด็ก
สมพงษ์ยังแนะนำสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันการศึกษาอื่นๆ เห็นตัวอย่างของ กทม. ที่ส่งเสริมสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชน แล้วจะเริ่มดำเนินการสำรวจระเบียบกฎเกณฑ์เครื่องแต่งกาย ทรงผมของตน และปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย หากสถานศึกษาทุกแห่งเปลี่ยนและเปิดพื้นที่ให้เด็ก เด็กจะเติบโต งอกงาม มีความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย ที่รู้จักสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ
นอกจากนี้ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน ทวีตข้อความเห็นด้วยกับ กทม.ว่า ขอแสดงความยินดีกับโรงเรียนในสังกัด กทม. และเฉลิมฉลองให้กับเสรีภาพในร่างกายของนักเรียนไทย ถึงแม้ว่าครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่ก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้บนการยอมรับฟังซึ่งกัน และกัน และมีโอกาสที่เราจะขยายผลออกไปใน วงกว้างได้จริงและง่ายขึ้น
“ที่สำคัญที่สุด ผมว่าทุกฝ่ายยังสามารถเรียนรู้จากพื้นที่นำร่องเพื่อนำมาปรับใช้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างยั่งยืนขึ้นด้วย” เศรษฐาชวนร่วมจับตามองปัจจุบัน และเรียนรู้จากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากฝั่งอนุรักษนิยม นับเป็นบทพิสูจน์กันต่อไปว่าสังคมไทยจะร่วมกันเดินหน้าใช้ชีวิตท่ามกลางความหลากหลายในสังคม ได้หรือไม่!?!
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 2 ก.ค. 2566 (กรอบบ่าย)