เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม กรณีกรุงเทพมหานครมีหนังสือถึงโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง เพื่อให้จัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ รวมถึงชุดไปรเวตไปเรียนหนังสือ โดยไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนด จากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้ รวมทั้งให้โรงเรียนออกกฎให้นักเรียนสามารถไว้ทรงผมได้เสรี
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าเรื่องการแต่งชุดไปรเวต ศธ.เปิดกว้าง ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 อยู่แล้ว และล่าสุดก็ได้มีการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 เพื่อให้สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดเป็นระเบียบ หรือข้อบังคับของแต่ละสถานศึกษาเอง ทั้งนี้ ศธ.มีหน้าที่ต้องดูแลโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 30,000 โรงเรียน ไม่ใช่แค่เฉพาะระดับตำบล หรือระดับจังหวัด เพราะฉะนั้นจึงมีความหลากหลาย สิ่งที่ ศธ.ยึดมั่นมาตลอด คือ พยายามให้เกิดความยืดหยุ่น ซึ่งคำว่ายืดหยุ่น ไม่ใช่ปล่อยอิสระ ใครอยากทำอะไรก็ทำได้ แต่หมายถึง เปิดโอกาสให้สถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน นักเรียน และ ผู้เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมออกแบบเครื่องแต่งกายและทรงผมนักเรียนที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
“เรื่องนี้ ศธ. ปลดล็อกไปนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาปลดล็อก อย่างที่บอกว่า การจัดการศึกษาต้องมีความยืดหยุ่น แต่ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถทำตามใจตัวเองได้หมดทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็มีกฎระเบียบในการดูแลนักเรียน เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่บ่มเพาะระเบียบวินัยให้เด็ก โดยเรื่องนี้ ศธ. ได้กระจายอำนาจลงไปให้ สถานศึกษา กรรมการสถานศึกษา นักเรียน ชุมชน ร่วมกันตัดสินใจได้เองอยู่แล้ว บางทีไม่อยากให้ไปตัดสิน ว่าทุกอย่างว่าต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้นทั่วประเทศ ทุกที่ทั่วโลกมีระเบียบอยู่ เพียงแต่ระเบียบนั้น ถูกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมหรือไม่ มีเป้าหมายให้เด็กมีวินัย และที่สำคัญ คือ เคารพในกติกาขององค์กร และรับฟังความเห็นส่วนรวม” น.ส.ตรีนุชกล่าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.ไว้ทรงผมเสรีและแต่งชุดไปรเวตได้สัปดาห์ละ 1 วันว่า เป็นสิ่งที่ดีมากๆ มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการพูดคุยกันระหว่างครูและสภานักเรียน เมื่อเช้าได้ไปโรงเรียนนาหลวง มีการพูดคุยกันเรื่องเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมเช่น เสื้อสายเดี่ยว กางเกงยีนส์ที่มีรอยขาดเยอะ ไม่ควรใส่มาโรงเรียน เรื่องพวกนี้ครูไม่ได้เป็นคนบอกว่าเหมาะสมหรือไม่ จะเป็นเรื่องที่นักเรียนหาข้อยุติร่วมกัน
“เชื่อว่าเด็กมีความคิด เคารพในสถานที่ มีการคุยกันแลกเปลี่ยนกันเป็นสิ่งที่สวยงาม บางครั้งให้เด็กคุยกันในกลุ่มเองง่ายกว่าที่ไปกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ อยากเน้นย้ำเรื่องเคารพเด็ก อย่าเอาความคิดไปยัดเยียดให้เด็ก ถ้าเด็กคิดว่าสายเดี่ยวไม่เหมาะสมก็ให้ถกแถลงกันเอง ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน เมื่อไหร่ที่ผู้ใหญ่เข้าไปกำหนด จะทำให้รูปแบบเสียไป” นายชัชชาติกล่าว
นายรัฐพล ไหลธนานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครนครปฐม กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองนครปฐมขึ้นตรงกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ดังนั้น กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องรอคำสั่งจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ที่ผ่านมาโรงเรียนทำประชาพิจารณ์ระหว่าง ผู้ปกครอง ครู ในทุกเรื่อง เช่นที่ผ่านมาเรื่องของทรงผม ได้ข้อสรุปว่าตัดทรงนักเรียน เข้ากับชุดนักเรียน ที่เหมาะสมสวยงามสุภาพเรียบร้อย และที่เป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน คือ นักเรียนแต่งชุดไทย 1 วัน ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 2 ก.ค. 2566