ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมเพื่อจัดการเลือกตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งในส่วนของสถานที่ อุปกรณ์ และการจัดฝึกอบรมเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง เพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ เที่ยงธรรม และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึง 50 สำนักงานเขต ได้ลงพื้นที่รณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ให้มากที่สุดอีกด้วย
โดยวันนี้ (14 พ.ค. 66) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการส่งมอบหีบบัตรเลือกตั้งและวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้งให้แก่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ณ สำนักงานเขตบางเขน โดยนางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการเขตบางเขน ให้รายละเอียดการดำเนินการ
จากนั้น ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมหน่วยเลือกตั้งที่ 1 ของเขตบางเขน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางเขน สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ และตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานทางโทรศัพท์ สำนักงานเขตบางเขน พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ดำเนินการเลือกตั้งด้วยความรอบคอบ ถูกต้อง และรัดกุมทุกขั้นตอนเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากนั้นปลัดกรุงเทพมหานครเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้งที่ 49 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน บริเวณซอยสุขาภิบาล 5 ซอย 5 เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยการเปิดให้ลงคะแนน พร้อมทั้งใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ณ หน่วยเลือกตั้งดังกล่าว โดยมีประชาชนมารอใช้สิทธิลงคะแนนตั้งแต่ก่อน 08.00 น. และเมื่อเปิดการลงคะแนนแล้วมีประชาชนทยอยมาใช้สิทธิอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเช้าวันนี้สำนักงานเขตบางเขนได้ส่งมอบหีบบัตรเลือกตั้งพร้อมวัสดุอุปกรณ์ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 9 แขวงอนุสาวรีย์ จำนวน 97 หน่วย และเขตเลือกตั้งที่ 12 แขวงท่าแร้ง จำนวน 105 หน่วย โดยเขตบางเขนเริ่มขนย้ายหีบบัตรเลือกตั้งจากห้องเก็บรักษาตั้งแต่เวลา 03.00 น. เพื่อเตรียมพร้อมส่งมอบให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 05.00 น. ซึ่งหีบเลือกตั้งหน่วยแรกได้ออกจากสำนักงานเขตบางเขน เมื่อเวลา 05.06 น. คือ หน่วยเลือกตั้งที่ 12 เขตเลือกตั้งที่ 12 แขวงท่าแร้ง ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 9 แขวงอนุสาวรีย์ หีบแรกออกจากเขตบางเขนเวลา 05.07 น. คือ หน่วยเลือกตั้งที่ 79 ส่วนหีบเลือกตั้งที่ออกจากเขตลำดับสุดท้ายของเขตเลือกตั้งที่ 12 แขวงท่าแร้ง เวลา 05.41 คือ หน่วยเลือกตั้งที่ 31 และหีบเลือกตั้งที่ออกจากเขตลำดับสุดท้ายของเขตเลือกตั้งที่ 9 แขวงอนุสาวรีย์ คือ หน่วยเลือกตั้งที่ 40 เวลา 05.46 น. ซึ่งภาพรวมของการดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
* ทุกหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบพร้อมกัน 8 โมงเช้า
ทั้งนี้ ในวันเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) จะนำหีบบัตรเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และอุปกรณ์อื่น ๆ ไปถึงที่เลือกตั้งเวลาประมาณ 06.00 น. เพื่อเตรียมสถานที่ให้พร้อมสำหรับการออกเสียงลงคะแนน เมื่อถึงเวลา 08.00 น. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จะนำหีบบัตรเลือกตั้งมาแสดงให้เห็นว่าเป็นหีบเปล่า และปิดฝาหีบบัตรเลือกตั้ง แล้วจึงดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด เมื่อประธาน กปน.กล่าวเปิดการออกเสียงลงคะแนนแล้ว ประชาชนจะสามารถเริ่มใช้สิทธิได้
อนึ่ง กรุงเทพมหานครได้ตั้งศูนย์ประสานงานการเลือกตั้ง ส.ส. กรุงเทพมหานคร และศูนย์ประมวลผลคะแนนเลือกตั้ง ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานการปฏิบัติงาน เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
* ชาวกรุงเทพฯ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมกว่า 4.4 ล้านคน
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศเกี่ยวกับจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมี ซึ่งกำหนดให้จำนวนราษฎรเฉลี่ย 162,766 คน ต่อส.ส.หนึ่งคน โดยกรุงเทพมหานครจะมีจำนวนส.ส. 33 คน (เขตเลือกตั้ง 33 เขต) มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 4,479,083 คน (หลังเพิ่ม-ถอน) เป็นชาย 2,040,610 คน หญิง 2,438,473 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้งรวม 6,327 หน่วย แบ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งที่เป็นอาคาร จำนวน 2,568 หน่วย และเป็นเต็นท์ จำนวน 3,759 หน่วย
* กากบาท X บัตรสีม่วงเลือกคนที่รัก บัตรสีเขียวเลือกพรรคที่ชอบ
สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประกอบด้วย ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง (เกิดก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม 2548) มีสัญชาติไทย หากมีการแปลงสัญชาติ จะต้องแปลงสัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง (ก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566) ในส่วนของผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช ผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
โดยผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง เมื่อแสดงตนเรียบร้อยแล้วจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรสีเขียวสำหรับเลือกส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (เลือกพรรค) บัตรสีม่วงใช้เลือกส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (เลือกส.ส.) โดยจะต้องกากบาท (X) หลังหมายเลขที่ต้องการเลือก
* ตรวจสอบข้อมูลให้พร้อมก่อนออกไปใช้สิทธิ ผ่านทางแอป “Smart Vote” และ “ThaiD”
ขอให้ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง เตรียมหลักฐานในแสดงตนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรหมดอายุสามารถใช้ได้) บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ของผู้ถือบัตรที่ยังไม่หมดอายุ รวมถึงหลักฐานภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานของรัฐ
ทั้งนี้เพื่อให้การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ขอให้ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ก่อนออกไปใช้สิทธิ ได้ทางแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต “Smart Vote” และไทยดี “ThaiD” ซึ่งดาวน์โหลดได้ทั้งทาง App Store และ Google Play โดยข้อมูลที่สามารถตรวจสอบทางแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต อาทิ การตรวจสอบสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ปี 66 ทั้งส.ส.แบบแบ่งเขต และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในส่วนของแอปพลิเคชันไทยดี เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงตนเพื่อขอใช้สิทธิลงคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้ง ได้
กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือผู้พิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ที่มาลงคะแนน ภายใต้การกำกับดูแลของกปน.ภายในที่เลือกตั้ง โดยให้เป็นไปตามความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของผู้พิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ซึ่งกปน.จะบันทึกลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง
* ฝ่าฝืนข้อห้ามในการเลือกตั้ง มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีข้อห้ามสำหรับผู้ใช้สิทธิ ได้แก่ ห้ามฉีกบัตรหรือจงใจทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุด เสียหาย ห้ามทำเครื่องหมายอื่นไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนนเสียง ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง ห้ามเล่นพนันผลของการเลือกตั้ง ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วในคูหาเลือกตั้ง ห้ามทำเครื่องหมายเป็นจุดสังเกตในบัตรเลือกตั้ง ห้ามโชว์บัตรเลือกตั้งที่กาแล้วต่อผู้อื่น
นอกจากนี้ ยังห้ามขายและแจกจ่ายสุราในช่วงก่อนและวันเลือกตั้ง (ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค. 66 จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 66) ห้ามซื้อสิทธิ ขายเสียง ห้ามเผยแพร่ผลโพลในช่วง 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง และห้ามโฆษณาหาเสียงให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค. 66 จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ หรือถูกเพิกถอนสิทธิ ตามที่กฎหมายกำหนด
หากประชาชนพบเห็นการกระทำทุจริตเกี่ยวกับการเลือกตั้งสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สายด่วน 1444 หรือแอปพลิเคชันตาสับปะรด หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
————–