ศศวัชร์ คมนียวนิช
ลั่นวาจา จะอยู่ ‘เฝ้ากรุงเทพฯ’
สำหรับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยย้ำว่าจะวนเวียนสแตนด์บายอยู่แถวลานคนเมือง พร้อมดูแลพ่อแม่พี่น้องให้เที่ยวอุ่นใจ โดยในปีนี้ นับเป็นปีแรกของการกลับมาจัดใหญ่งานสงกรานต์ทั่วไทยหลังสถานการณ์โควิดที่ต่อเนื่องยาวนานทำเอาสงกรานต์กร่อยมาหลายปี
กทม. อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และเจ้าพ่อหอแก้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สู่ลานคนเมืองให้ประชาชนสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลวันนี้วันแรก 12 เมษายน จนถึง 14 เมษายน
พร้อมชักชวนให้คว้าคอสตูมในธีม #ใส่ลายดอกออกเที่ยว ในสงกรานต์กรุงเทพฯ 66 โดยเน้นย้ำว่า ห้ามโป๊ ห้ามแป้ง และห้ามปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ขีดเส้นใต้ให้เป็นสายงานวัฒนธรรมโดยเขตต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ร่วมกันจัดงานสืบสานประเพณี
เมื่อถามพ่อเมืองกรุงเทพฯ ว่าในบรรยากาศ ‘ใกล้เลือกตั้ง’ อยากสาดน้ำ ‘นักการเมือง’ คนไหน?
ชัชชาติตอบอย่างไวว่า
“ทุกคนนั่นแหละ เจอใครก็สาดหมด ต้องเท่าเทียมกัน เราไปเลือกที่รักมักที่ชังไม่ได้ เราต้องเป็นกลางกับทุกคน”
ดังเช่นที่เอ่ยเน้นกับข้าราชการสังกัด กทม. ถึงความเป็นกลางในช่วงเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. ยกมือไหว้สา หลังถูกถามเช่นกันว่า อยากสาดน้ำใคร?
“(พนมมือ) ขออนุญาตสาดท่านผู้ว่าฯแล้วกันนะครับ เพราะว่าท่านเป็นต้นแบบของผู้นำอยู่แล้ว ถือว่ารดน้ำดำหัวด้วยและผู้บริหารของเราจะได้มาผ่อนคลายกันบ้าง”
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า สงกรานต์นี้ เหล่าผู้บริหารเมืองหลวงของไทย ต้องกรำงานมากมายในการดูแลชาวกรุง มุ่งเน้นความสะดวกปลอดภัย
เปิดตัว Nicemap.info แผนที่รวบตึงสงกรานต์กรุงเทพฯ
สงกรานต์นี้ ไม่เพียง กทม.จะกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด 35 จุด ใน 24 เขต รวมถึงสงกรานต์ประเพณีในพื้นที่ 50 เขตแล้ว ยังเปิดตัว Nicemap แผนที่รวม 198 จุด จัดงานสงกรานต์ไว้ให้เช็กได้เพียงปลายนิ้ว
รองผู้ว่าฯศานนท์กล่าวว่า สำหรับประเด็นของการจัดงานสงกรานต์ กทม.ร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลักดันงานสงกรานต์เป็น Intangible Cultural Heritage หรือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปีนี้เลยต้องมีธีมตามที่กำหนด หนึ่งในนั้นคือ การสืบสานวัฒนธรรม ซึ่งจะจัดที่ลานคนเมือง นอกจากนี้ ยังมีงานสงกรานต์ที่คลองผดุงกรุงเกษม
“เราอยากทดลองความเป็นพื้นที่สาธารณะ อยากให้คนมาเดิน ในการนี้ กทม. โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้นำเรือ เช่น เรือปั่น เรือคยัค มาทดลองให้ประชาชนได้มาเล่น แล้วดูผลว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร ควรจะจัดต่อหรือไม่
ในส่วนกิจกรรมที่ทางเอกชนจัด ทาง กทม.ก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับภาคเอกชน คือ MIT Urban Risk Lab และ Collective Resilience Network Thailand จัดทำแมป (แผนที่) ที่สามารถดูทางออนไลน์ได้ ใครเป็นสายปาร์ตี้ สายสาดน้ำ อยากเปียก จะแสดงระดับน้ำให้เห็น ประชาชนช่วยกันบอกได้ว่า ตรงนี้เปียก จะมีแมปที่ สามารถให้เรตติ้งน้ำได้ ถ้าใครไม่อยากเปียก ก็สามารถเช็กในแมป ก่อนได้” ศานนท์แนะแผนที่ดังกล่าวรวบรวมสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ อีเวนต์ และกิจกรรมต่างๆ ทั้ง 198 จุด ทั่วกรุงเทพมหานครไว้ในที่เดียว ซึ่งจะแสดงรูปแบบของการจัดงานในแต่ละจุด สามารถปักหมุดหรือตรวจสอบข้อมูลต่างๆ โดยใช้ filter เลือกย่าน/ประเภทกิจกรรมที่ชอบ/ระดับความต้องการเปียกในการเล่นสงกรานต์ นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งเตือนเหตุในพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถเลือกเที่ยวสงกรานต์ได้ตรงกับความต้องการของตนเอง และกระจายไปเล่นน้ำแบบไม่แออัดอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เป็นการเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และง่ายต่อการเดินทางสัญจรในช่วงเทศกาลด้วย
นั่งฟรี BMA Feeder ขับวน ‘ลานคนเมือง-คลองผดุงฯ-ถนนข้าวสาร’
ว่าแล้ว มาต่อกันที่การเดินทาง ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. จัดรถบัสพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder รับ-ส่งฟรี ระหว่างตั้งแต่วันนี้ถึง 16 เมษายน 16.00-20.00 น. ขับวนเส้นทางลานคนเมือง คลองผดุงกรุงเกษม ถนนข้าวสาร เชื่อมต่อการเดินทางจากพื้นที่จัดงานเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะให้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องขับรถไปหาที่จอดให้ยุ่งยาก
สำหรับจุดจอดรถรับ-ส่ง ทั้งสิ้น 11 จุด สะดวกที่ไหน ขึ้นที่นั่น ได้แก่
1) ลานคนเมือง (เสาชิงช้า)
2) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ถนนข้าวสาร)
3) สงกรานต์คลองผดุงฯ เขตดุสิต (คุรุสภา)
4) ท่าเรือราชดำเนินนอก (มัฆวาน)
5) ท่าเรือนครสวรรค์ (ตลาดนางเลิ้ง)
6) ท่าเรือหลานหลวง (โบ๊เบ๊)
7) ท่าเรือกระทรวงพลังงาน (รพ.หัวเฉียว)
8) ท่าเรือยศเส (เทพศิรินทร์)
9) สงกรานต์คลองผดุงฯ เขตป้อมปราบฯ (สายปัญญา)
10) ท่าเรือหัวลำโพง (สถานีรถไฟกรุงเทพฯ)
11) ท่าเรือนพวงศ์ (การรถไฟฯ)
รถ BMA Feeder ที่ว่านี้ จำนวนที่นั่งกำลังดี 20 ที่นั่ง รองรับ ผู้พิการ 2 ที่ ออกจากจุดบริการต้นทาง ณ ลานคนเมือง ทุก 1 ชั่วโมง ติดตามเวลารถมาถึงผ่านแอพพ์ Via Bus ได้ชิวๆ
‘ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ’ ย้ำ ผอ.เขตลงพื้นที่ ‘คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง’
เมื่อเดินทางถึงงานในจุดต่างๆ แล้ว แน่นอนว่าความสนุก ต้องมาพร้อมความปลอดภัย สงกรานต์กรุงเทพฯปีนี้ สุนทร สุนทรชาติ ผอ.สำนักอนามัย กทม. เน้นมาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ลดอันตรายจากการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางท้องถนน การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ แม้ว่าในปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิตจะไม่เยอะ แต่ปีนี้เป็นปีที่ผ่อนคลายสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมได้ออกมาตรการต่างๆ แจ้งให้กับภาคีเครือข่ายร่วมปฏิบัติ
เมื่อถามว่า กทม.มีอำนาจเข้าไปควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามร้านในชุมชนได้หรือไม่ ชัชชาติ ตอบด้วยตัวเองว่า ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าที่ไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ได้ เช่น ขายในที่ห้ามขาย ขายให้แก่เด็กเยาวชน หรือไม่มีใบอนุญาตการขาย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดโซนนิ่งรอบสถานศึกษา ว่าแต่ละร้านค้าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
“ให้ ผอ.เขตลงพื้นที่ให้ละเอียดขึ้น คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะไปดู เพราะส่วนใหญ่ร้านจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีคน มีลูกค้าที่อยู่ในชุมชน ทางเขตน่าจะมีข้อมูลอยู่” นายชัชชาติกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ปีนี้ตั้งเป้าให้มีผู้เสียชีวิตลดลงครึ่งหนึ่ง ไม่เกิน 6 คน แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีสาเหตุอื่นนอกจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การไม่สวมหมวกกันน็อก
งานนี้ เตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้น ทั้งการ ‘ขอความร่วมมือ’ และ ‘บังคับใช้กฎหมาย’ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดหน่วยเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่สแตนด์บาย อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ณ อาคารธานีนพรัตน์ ชั้น 10 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ตั้งแต่วันที่ 13-17 เม.ย. เวลา 08.00-16.00 น.
จัดทีมปฐมพยาบาล ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมเครื่อง AED รถพยาบาลและเวชภัณฑ์ รับผิดชอบปฏิบัติงานประจำจุดศูนย์อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร 11 จุด ได้แก่ เส้นทางเข้าออกเมือง 7 สถานีขนส่ง 4 จุด ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน เวลา 08.00-16.00 น. หรือปรับเวลาตามความเหมาะสม
ไม่เพียงเท่านั้น ยังจัดทีมปฐมพยาบาล ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมเครื่อง AED รถพยาบาล และเวชภัณฑ์ รับผิดชอบปฏิบัติงานประจำเต็นท์กองอำนวยการ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 12 เมษายน เวลา 10.00-22.00 น. วันที่ 13 เมษายน เวลา 06.00-22.00 น. และวันที่ 14 เมษายน เวลา 10.00-22.00 น.
หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย โทร 191 เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 และพบเหตุเพลิงไหม้หรือสาธารณภัย โทร 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จัดเต็มศูนย์ CCTV ไฟพรึบ! กรุงเทพฯต้องสว่าง
นอกจากความปลอดภัยในการจราจร กรุงเทพมหานครยังผนึกกำลังตำรวจ ดูแลความปลอดภัยประชาชนและนักท่องเที่ยวตลอดเทศกาล
เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. เผยว่า มีการจัดตั้งกองอำนวยการร่วมกลาง ทุกสำนักงานเขตพร้อมประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อร่วมกันดูแลและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ควบคุมดูแลพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผู้คนมาร่วมงานหนาแน่น ให้มีศูนย์ CCTV ติดตามเฝ้าสังเกตการณ์ เพื่อจำกัดผู้ร่วมงานไม่ให้เกินปริมาณที่พื้นที่รองรับได้ พร้อมทั้งดูแลไฟฟ้าแสงสว่างในเส้นทางหลักๆ บริเวณพื้นที่จัดงานอย่างทั่วถึง
ย้อนไปในค่ำคืนของวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา วิศณุ ทรัพย์สมพลรองผู้ว่าฯกทม. ควง ธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา และคณะ เกาะติดการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างย่านสีลม ตามนโยบาย “กรุงเทพฯต้องสว่าง” ทำให้ถนนสีลม-สาทรในปัจจุบันนี้ไม่มีไฟฟ้าดับ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ โดย กทม.แก้ไขซ่อมแซมไฟฟ้าดวงที่ดับบนถนนสาทร 238 โคม ถนนสีลม 118 โคม ถนนรัชดาภิเษก 141 โคม รวมถึงทางม้าลายถนนวิทยุ 3 โคม
จากการรายงานผลการดำเนินการสำรวจตรวจสอบและการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะดับในพื้นที่กรุงเทพฯ (6 เมษายน 2566) จำนวน 6,954 เส้นทาง เป็นถนนสายหลักในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา 314 เส้นทาง ซอยย่อยที่สำนักงานเขตดูแล 6,640 เส้นทาง มีจำนวนไฟฟ้าแสงสว่างที่ กทม.ดูแลทั้งหมด 145,314 ดวง ดำเนินการแก้ไขไฟฟ้าดับแล้ว 25,245 ดวง ยังคงดับอยู่ 398 ดวง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขต่อไปเพื่อความปลอดภัยให้ประชาชน
“ส่วนไฟฟ้าส่องสว่างที่หน่วยงานอื่นดูแลประมาณ 150,000 ดวง ทาง กทม.ก็ได้มีการประสานงานเร่งรัดให้มีการแก้ไข และได้มีการรายงานการแก้ไขกลับเข้ามา” รองฯวิศณุกล่าว
สงกรานต์กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2566 จัดเต็มจุกๆ ทั้งความสนุกแนววัฒนธรรมที่มาพร้อมคำว่าปลอดภัย ไฟสว่าง เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ไทยและอุษาคเนย์อย่างงดงามตามประเพณี
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 12 เม.ย. 2566