พรรณราย เรือนอินทร์
กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อเนื่องสำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งนอกเหนือจากกิจกรรมหลากหลายสไตล์งานแฟร์ในปีนี้ ยังคงมีการอัญเชิญพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ มาให้ประชาชนสรงน้ำ ณ ศาลาสำราญ มุขมาตย์ ตั้งแต่เช้าจดเย็น 09.00-16.00 น.
วันนี้ 14 เมษายนเป็นวันสุดท้าย สำหรับเทพนพเคราะห์ ข้อมูลจาก กรมศิลปากร ระบุว่า คือ เทพทั้ง 9 องค์ ผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์ มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระสุริยเทพ ซึ่งมีเทพบริวารอีก 8 องค์ รวมเป็น 9 องค์ ซึ่งให้โทษหรือสร้างอุปสรรคให้กับมนุษย์มากกว่าจะให้คุณ ต่อมาจึงต้องมีผู้ควบคุมเทพนพเคราะห์อีกชั้นหนึ่ง นั่นคือ พระคเณศ เทพผู้เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล
การกำเนิดและลักษณะของเทวดานพเคราะห์ในไทย มีการกล่าวถึงพาหนะและอาวุธของแต่ละองค์ในคัมภีร์ เฉลิมไตรภพ และ มหาทักษาปกรณ์ โดยกล่าวว่าหลังจากเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลกแล้ว บรรดาพระเวทรวมตัวกันขึ้นมาเป็นพระอิศวร พระองค์ก็เริ่มสร้างโลกและสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ จากนั้นทรงสร้างเทวดานพเคราะห์จากสิ่งต่างๆ เพื่อดูแลความเป็นไปในจักรราศี การเรียงลำดับเทวดานพเคราะห์จะไม่เป็นไปตามการเรียงวันในหนึ่งสัปดาห์ แต่จะเรียงลำดับตามผังทักษา ดังนี้ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระเสาร์ พระพฤหัสบดี พระราหู พระศุกร์ และพระเกตุ
เทพนพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ประกอบด้วย
พระอาทิตย์ มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระอิศวรทรงใช้ราชสีห์ 6 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต ลักษณะเป็นบุรุษมีผิวกาย สีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มักมีอารมณ์รุนแรง ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์ เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี และเป็นศัตรูกับพระอังคาร สัญลักษณ์เลข 1 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 6
พระจันทร์ พระอิศวรทรงสร้างจากเทพธิดา 15 นาง บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษรูปงาม มีสีผิวกายขาวนวล ทรงอาชา (ม้า) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มีอารมณ์อ่อนโยน เพ้อฝัน รวนเร และอาจมีเล่ห์เหลี่ยมมาก พระจันทร์เป็นมิตรกับพระพุธ และเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี สัญลักษณ์เลข 2 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 15
พระอังคาร พระอิศวรทรงสร้างจากกระบือ 8 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีชมพูหม่น พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษผิวสีทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีอารมณ์มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ใจร้อน เป็นมิตรกับพระศุกร์ และเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์ สัญลักษณ์เลข 3 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 8
พระพุธ พระอิศวรทรงใช้ช้าง 17 เชือก บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเขียวใบไม้ พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษมีผิวกายสีเขียว ทรงช้างเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ชอบพูดชอบเจรจา สุขุม รอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย เป็นมิตรกับพระจันทร์ และเป็นศัตรูกับพระราหู สัญลักษณ์เลข 4 มีกำลัง พระเคราะห์เป็น 17
พระพฤหัสบดี พระอิศวรสร้างจากฤษี 19 ตน บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีส้มแดง พรมน้ำอมฤตได้เป็น พระพฤหัสบดี มีผิวกายสีส้มแดง ทรงกวางเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มักทำอะไรด้วยความระมัดระวัง สุขุม รอบคอบ เมตตาปรานีต่อผู้อื่น เป็นมิตรกับพระอาทิตย์ และเป็นศัตรูกับพระจันทร์ สัญลักษณ์เลข 5 มีกำลัง พระเคราะห์เป็น 19 เป็นครูของเทพทั้งหลาย จึงนิยมทำพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี
พระศุกร์ พระอิศวรทรงสร้างจากโค 21 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีฟ้าอ่อน พรมด้วยน้ำอมฤตเป็นพระศุกร์ มีผิวกายสีฟ้า ทรงโคเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ กิริยาน่ารัก อ่อนหวาน ชอบงานศิลปะทุกประเภท เป็นมิตรกับพระอังคารและเป็นศัตรูกับพระเสาร์ สัญลักษณ์เลข 6 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 21 พระศุกร์เป็นครูของเหล่ายักษ์
พระเสาร์ พระอิศวรทรงสร้างจากเสือ 10 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ พรมด้วยน้ำอมฤตได้ พระเสาร์มีสีกายดำคล้ำ ทรงเสือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม เป็นมิตรกับพระราหูและเป็นศัตรูกับพระศุกร์ สัญลักษณ์เลข 7 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 10
พระราหู พระอิศวรทรงสร้างจากหัวกะโหลก 12 หัว (บางตำราว่าผีโขมด 12 ตัว) บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระราหู มีกายสีนิลออกไปทางทองแดง ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีวิมาน สีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทางลุ่มหลงมัวเมา เป็นมิตรกับพระเสาร์และเป็นศัตรูกับ พระพุธ สัญลักษณ์เลข 8 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 12
พระเกตุ พระอิศวรทรงสร้างจากพญานาค 9 ตัว กายสีทองคำ ทรงนาคเป็นพาหนะ มีวิมานสี ดอกบุษบา (เปลวไฟ) ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง บ้างว่า พระเกตุเกิดจากหางของพระราหู ซึ่งขโมยดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์โกรธจึงขว้างจักรตัดเอวขาด ด้วยอำนาจแห่งน้ำอมฤตทำให้พระราหูไม่ตาย หางที่ขาดนั้นกลายเป็นพระเกตุ ซึ่งจะไม่เสวยอายุโดยตรง แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเรื่องร้ายและส่งเสริมในเรื่องดี สัญลักษณ์คือเลข 9
โดยปกติแล้ว การบูชาเทวดาเสวยอายุ หากต้องการทราบว่าเทพนพเคราะห์องค์ใดเสวยอายุให้นับอายุเต็มเป็นตัวตั้ง เริ่มต้นนับกำลังของเทพนพเคราะห์ประจำวันเกิดเวียนขวาไปตามผังทักษา แต่ละองค์จะเสวยอายุตามกำลังแห่งตน ยกเว้นพระเกตุจะไม่เข้าเสวยอายุ แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเคราะห์กรรมหรือเพิ่มความเจริญรุ่งเรือง จัดเครื่องบูชาถวาย ได้แก่ ข้าวปั้นจำนวนเท่ากำลังพระเคราะห์ใส่กระทง พร้อมข้าวตอก ดอกไม้ หมากพลู แล้วเขียนเลขประจำตัวพระเคราะห์ (บัตร) ใส่กระทงนั้นไปบูชาพระพุทธรูป จากนั้นจุดธูปตามจำนวนกำลังพระเคราะห์ หรือหล่อพระพุทธรูปประจำเทพนพเคราะห์ถวายวัด
ขยับมาอีกนิด บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า พิกัดสำคัญแห่งรัตนโกสินทร์ กทม.จัดขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ให้ประชาชนร่วมสรงน้ำ 3 จุดเมื่อ 12 เมษายนที่ผ่านมา ใช้เส้นทางถนนราชินี-ถนนพระอาทิตย์ และจอดให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำ ณ สวนสันติชัยปราการ จากนั้นเคลื่อนขบวนไปยังวัดชนะสงคราม ผ่านเส้นทางถนนพระสุเมรุ-ถนนจักรพงษ์ จอดให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำ ณ วัดชนะสงคราม ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังปากคลองตลาด แล้วมุ่งหน้าประดิษฐาน ณ ลานคนเมือง วันนี้ 14 เมษายน วันสุดท้าย
ตามประวัติ สำหรับพระพุทธสิหิงค์นั้น เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้โปรดให้อัญเชิญจากเชียงใหม่มายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ.2338 ตามตำนานเล่าสืบต่อกันถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์ พระพุทธสิหิงค์ว่า
“พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่”
เทศกาลสงกรานต์นี้ มีพิธีสวดพระปริตรรามัญเสกน้ำพระพุทธมนต์ตามพิธีโบราณ โดยพระครูพระปริตรรามัญแห่งวัดชนะสงคราม ณ ปะรำประกอบพิธี ลานคนเมืองเสร็จสิ้นแล้วในวันเดียวกับที่อัญเชิญมาประดิษฐาน และวันนี้จะมีการแจกน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ 5 รอบ รอบละ 599 ขวด ในเวลา 13.00 น. 14.00 น. 15.00 น. 16.00 น. และ 17.00 น.
นับเป็นอีกมงคลแห่งการเข้าสู่ศักราชใหม่ในสงกรานต์นี้
บรรยายใต้ภาพ
ขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ให้ประชาชนสรงน้ำในจุดต่างๆ กลางกรุงเทพฯ
ประชาชนสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร
กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ 2566
พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐาน ณ ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม.
ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. และพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ร่วมขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกจากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
รูปเทวดานพเคราะห์ประจำบัตรทั้ง 9, พระธาตุ และเทวดานพเคราะห์ ประดิษฐาน ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พช.พระนคร
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 14 เม.ย. 2566 (กรอบบ่าย)